วันที่ 6 มกราคม 2566 เวลา 08.45 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประจำปีการศึกษา 2563 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ
ในปีนี้มีดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และวิทยาลัยสหวิทยาการ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนรวม 1,651 คน
ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้โอวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ความตอนหนึ่งว่า
“บัณฑิตทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ย่อมมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นลำดับต่อไป แต่การที่จะประสบความสำเร็จในงานดังที่มุ่งหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยหลักการทำงานที่ถูกต้องด้วย ประการแรก ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ขอบเขต และระยะเวลาในการทำงานให้แน่ชัด จะได้ดำเนินงานให้บรรลุถึงความสำเร็จได้อย่างถูกต้องพอเหมาะพอดี ไม่ล่าช้าและไม่สิ้นเปลือง ประการที่สอง ต้องมีความเพียรพยายามและความตั้งใจจริง จะได้ทำงานได้ตลอดต่อเนื่องจนสำเร็จผลตามเป้าหมาย โดยไม่ย่อท้อหรือย่อหย่อน ประการที่สาม ต้องมีความสามัคคีและจริงใจในหมู่ผู้ที่ทำงานร่วมกัน จะได้ช่วยกันปฏิบัติดำเนินงานตลอดจนร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ประการสุดท้าย ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต จะได้ทำงานให้สำเร็จผลเป็นความดีความเจริญแต่อย่างเดียว โดยไม่มีโทษเสื่อมเสียหาย บัณทิตไม่ว่าจะประกอบอาชีพการงานใด หากจะได้ทำตามหลักที่กล่าวมานี้ ก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จในงาน อันจะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญก้าวหน้า ทั้งของตนเองและสังคมประเทศชาติได้อย่างแน่นอน”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดการเรียนการสอนตามกรอบแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในการผลิตกำลังคนขั้นสูงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาในการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคตของแต่ละบุคคล ไม่จำกัดอายุ อาชีพ ในรูปแบบ Micro-Credentials ซึ่งแสดงทักษะเฉพาะเจาะจงของผู้เรียนในรูปแบบดิจิทัล ตลอดจนการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์แบบหน่วยย่อยOutcome-Based Education Module ทำให้เกิดความยืดหยุ่นของการเรียน ผู้เรียนสามารถเพิ่มและพัฒนาทักษะที่จำเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อก้าวสู่การเป็น Entrepreneurial University for Sustainability
ภาพข่าวโดย: กลุ่มงานการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการตลาด