ห้องปฏิบัติการ CIS คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาพื้นที่ Satun Global Geopark สู่การเป็น “Global Geopark Learning City”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) มีความตระหนักถึงการศึกษาวิจัย และทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน โดยในปี 2562 มจธ. ได้ลงนามความร่วมมือในการศึกษาวิจัย และพัฒนาพื้นที่ Satun Global Geopark ซึ่งเป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยความมุ่งหวังที่ มจธ. จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาพื้นที่ Satun Global Geopark ทั้งในมิติวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมต่อของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ และชุมชนสร้างสรรค์

ในการนี้ห้องปฏิบัติการ Center of Innovation for Society หรือ CIS  ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์และนักวิจัยจาก Interior Architecture Program และ Design Innovation Practice School (DIPS) และนักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) นำโดย ผศ.กรุณา เคลือบมงคล ได้นำคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา เข้าศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั้งในมิติการเป็นอุทยานธรณีโลก และการพัฒนาชุมชน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ผ่านโครงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ โครงการส่งเสริมกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางความคิดด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแบบ Zero Waste ของกรณีศึกษาพื้นที่ ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกที่ใกล้ชิดและต่อเนื่องร่วมกับนักเรียน ครู อสม. ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่า 60 คน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงการวางแผนโครงการต่อเนื่องในเรื่องการจัดตั้ง Zero Waste Academy และโครงการวิจัยปัจจัยการขับเคลื่อนกระบวนการเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและออกแบบ Scenario สำหรับการพัฒนาพื้นที่ Satun Global Geopark สู่การเป็น “Global Geopark Learning City” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยตั้งเป้าให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และมีทักษะในการพัฒนาความรู้เหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมีมุมมองเรื่องการจัดการขยะครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงการส่งเสริมความรู้ด้าน Satun Global Geopark ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความสำคัญทางธรณีวิทยา ความสวยงามทางธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชน

ผศ.กรุณา เคลือบมงคล และคณะทำงาน ได้ทำงานใกล้ชิดและต่อเนื่องกับผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลก หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการขยายความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกพื้นที่ อาทิ การขยายร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ในการสำรวจด้านธรณีวิทยา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุในท้องถิ่น ความร่วมมือกับวิทยาลัยชุมชนจังหวัดสตูล ในการออกแบบหลักสูตร Service Design เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความร่วมมือกับชมรมธุรกิจโรงแรม จังหวัดสตูล เพื่อจัดทำ Roadmap การพัฒนาเมืองและกลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว ความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการ Royal Project Foundation and King’s Recommended Supporting Center มจธ. ในการพัฒนาเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและการพัฒนาศักยภาพของประชาชน ความร่วมมือกับ Kochi University of Technology ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาวิจัยการสร้างงานในพื้นที่ และการพัฒนาโอกาส ความร่วมมือ และการเป็น “อุทยานพี่อุทยานน้อง” กับ Muroto Global Geopark และบริษัท HUAWEI ในนามของ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center ในการศึกษา วิจัย การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาพื้นที่ในมิติต่าง ๆ

จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการในระยะเริ่มต้น รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ผู้บริหาร มจธ. โดยท่านอธิการบดี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย ได้ส่งเสริมให้คณะทำงานวางแผนการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระยะยาว โดยคำนึงถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มพันธมิตรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้ในพื้นที่ และการแสวงหาองค์ความรู้และความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ที่สำคัญ ในการพัฒนาพื้นที่ Satun Global Geopark ตลอดจนการส่งเสริมและผลักดันให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา มจธ. ได้มีโอกาสประยุกต์ใช้องค์ความรู้เชิงทฤษฎีสู่การปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่างานวิจัยและการเรียนสอนสามารถเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน