แนะนำตัว “รุ่นพี่”
สวัสดีครับ พี่ชื่อ“ปรีดา บุญศิลป์” เป็นนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ปีที่เข้าศึกษา 2529 เครื่องกลรุ่นที่ 27 อายุ 55 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ตำแหน่งผู้จัดการ Senior Manager ดูแลรับผิดชอบในงานด้านแผน กลยุทธ์ และประสิทธิภาพ เสมือนเป็นทีมเสนาธิการให้กับผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่กำกับดูแลงานของกลุ่มโรงงานไออาร์พีซี จ.ระยอง
ความทรงจำสมัยเรียนที่ “บางมด” เป็นอย่างไร
ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีสอบเอาชนะคนเกือบพันคนมาได้ และก็สามารถเข้ามาเรียนที่บางมดได้ ตอนนั้นผมสอบโควต้าของบางมดแต่จัดสอบให้โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และก็ถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนของจังหวัด ตอนนั้นตื่นเต้นมากเพราะมาได้คนเดียว ได้เข้ามาเรียนที่กรุงเทพ ตอนที่เริ่มเรียน รู้เลยว่าบางมดนั้นไม่ธรรมดา ด้วยศาสตร์ของการเรียน ทั้งด้านการสอนของอาจารย์ วุฒิภาวะของอาจารย์และคณะเจ้าหน้าที่ผู้สอนไปไกลมากๆ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็มีครบ บางมดทำให้เราได้ปรับวิธีคิดต่างๆ มากจากการเป็นเด็กมหาวิทยาลัย โดยบางมดสอนให้เราเป็นคนไม่ยอมแพ้ไม่ท้อถอย คิดเอาง่ายๆ คือกัดไม่ปล่อย ทำจนงานสำเร็จถึงวางมือวางใจได้ “กัดไม่ปล่อยจนทำให้งานสำเร็จได้”
ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมา
ในเรื่องของประสบการณ์การเรียนรู้ผมจะเทียบให้เป็น 3 – 4 ช่วง
• ช่วงแรกของการเรียนรู้แบบตั้งต้น คือ ช่วงที่เราเป็นนักเรียน เรามีหน้าที่ในการตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อที่จะชนะ เพื่อจะสอบเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ เราต้องเรียนรู้ตอนนั้นให้ดี ถ้าใครเรียนไม่ดีจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยยากมากๆ อีกอย่างพื้นฐานพ่อผมเคยเป็นครูใหญ่ที่บ้านเลยรักการศึกษา รักดี คิดดี ไปได้ไกลเกือบทุกคน
• ช่วงที่สอง คือ ตอนเข้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนชีวิตไปมาก ด้วยเหตุผลที่ว่าเราต้องเก็บเกี่ยวความรู้และแนวทางการเอาตัวให้รอดในสถานการณ์ต่างๆ ให้มาก การเก็บเกี่ยวที่ว่ามีทั้งองค์ความรู้ หลักวิชา ความรู้รอบตัวรวมทั้งโอกาสต่างๆ ในการเรียนมหาวิทยาลัยบางคนมองว่ายากแต่เอาเข้าจริงๆ การทำงานยากกว่ามาก เราต้องเก็บเกี่ยวให้เต็มที่ ต้องเรียนรู้ให้มากๆเอาชนะตนเองให้ได้ บางคนยังเคยพูดว่า ถ้าพลาดก็จะเสียใจมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่าทำไมเกรดถึงไม่ค่อยดี
• ช่วงที่สาม คือ การทำงาน การทำงานเป็นเรื่องยากกว่าเรียน
ด้วยเหตุผลที่ว่าเรียนกับทำงานต่างกันตรงที่มีคนคาดหวังเป็นเจ้าของเงินเจ้าของงาน แต่เรียนเป็นเรื่องของตนเองและกำลังใจจากพ่อแม่ คนที่โชคดีก็จะได้ทำงานตรงสายที่เรียนมา ส่วนคนที่โชคไม่ดีอาจจะได้ไปทำงานที่ไม่ตรงกับที่เรียนมาเลย ถ้าจบมาอาจจะไม่ได้ทำงานที่ตัวเองเรียนมาก็ได้ หรือบางคนตกงานก็มี เพราะฉะนั้นเราควรเรียนรู้เก็บเกี่ยวจากสภาพหน้างานจริง เราต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งที่เรามีพบเห็นและมีโอกาส องค์ความรู้ประสบการณ์ ทักษะที่จะเอาไปใช้ทำงาน
• ช่วงที่สี่ จะเป็นการเรียนรู้และใช้ชีวิตทางสังคม คือ การเรียนรู้นอกระบบ การปรับตัวการได้รับโอกาสทางสังคม การสร้างโอกาสให้ตนเอง สิ่งที่ผมพบได้คือ โอกาสที่เราต้องแสวงหา ผมมีโอกาสเคยเป็นประธานมูลนิธิมดตะวันออกอยู่สี่ปีกว่า และเป็นประธานคณะกรรมการชมรมมดตะวันออก 6 ปีกว่า ในสังคมที่เราเป็นอยู่ตอนนั้นเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เราต้องผลักดันวิธีการและแนวคิวต่างๆ ให้เกิดดรีมทีม สร้างกลุ่ม ให้กลุ่มคิดเหมือนกันและช่วยเรา เราต้องช่วยกันสร้างและช่วยหลือสังคมให้ดีขึ้น เช่น การให้ทุนการศึกษาเด็กเกือบพันคน การสร้างอาคารเรียนห้องสมุดหรือการทำพัฒนาชุมชนทำถนนหนทางรวมทั้งการปลูกป่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นมิติที่ทำให้สังคมน่าอยู่เกิดการเกื้อกูลทำงานด้วยใจรักด้วยจิตอาสานำพาสุข
ความเชื่อ “ยิ่งอายุมาก ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก”
ผมเชื่ออยู่ครึ่งหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงมันควรมีตลอดเวลา มันจะมีคนอยู่สองแบบ คนแบบแรกคือ คนที่ปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้ง่าย ปรับตัวตามสังคมได้ง่าย แบบที่สองคือ คนที่ไม่ยอมเปลี่ยน หลายคนอาจจะมองว่าไม้แก่ดัดยาก ความจริง ไม้หนุ่ม ไม้สาว ไม้เด็กที่ยังไม่แก่ดัดยากก็มี พวกเขาทันโลกมากขึ้นแต่ก็ควรมีวิธีการคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ที่เปลี่ยนไปจากแบบเดิม ๆ การที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงคนแบบที่สอง เราจะต้องเปลี่ยนแปลงสามสิ่งนี้ คือ ทัศนคติ แนวคิด และความเชื่อ ถ้าเราสามารถจะเปลี่ยนแปลงและโน้มน้าวใจเขาได้ เราหาเหตุผล หาวิธีการให้เขา จนสามารถทำให้เขายอมเปลี่ยนด้วยตัวเองแบบนั้นจะทำให้ง่ายกว่าการที่จะไปหักไปงอเขา การคิดต่างมีประโยชน์ ทำให้เกิดการกระตุ้นความคิดของเราเพื่อหาเหตุผลและคำตอบมาอ้างอิงในสิ่งที่เขาคิดแตกต่างจากเรา เราสามารถเอาความคิดที่แตกต่างและความเห็นที่แตกต่าง มาคิดวิเคราะห์ว่าเราจะนำข้อเห็นต่างนี้มาปรับปรุงเกิดประโยชน์อะไรได้บ้าง ใช้ความรู้ทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ มาพูดคุยหาเหตุผลตรงกลางกัน ผมเชื่อว่าเราสามารถนำมาใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์กับองค์กร สังคม และประเทศชาติได้
สิ่งที่ยึดถือในการใช้ชีวิต และการทำงาน
ปรัชญาในการทำงานของผมคือ รวดเร็ว ถูกต้อง และมีคุณภาพ“รวดเร็ว” คือ ยึดความรวดเร็วในการทำงาน ไม่ช้า ไม่หลบหนี “ถูกต้อง” คือ นึกถึงความถูกต้องในการทำงานเป็นหลัก สิ่งที่ผิดต้องไม่ทำ “คุณภาพ” การทำอะไรต้องนึกถึงคุณภาพมาตรฐาน ต้องใส่ใจและมีใจในการทำงาน จะทำให้งานออกมาดีมีคุณภาพ
ถ้าเราสามารถทำ Input ให้ดีและ Process ดี งานก็จะออกมาดี จะทำให้ Output ที่ส่งออกมามีคุณภาพ และ Outcomes ความสุขของทุกคนก็จะตามมา สิ่งหนึ่งที่ผมยึดเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตคือในทางสังคมแล้วเราต้องมี “ความรัก ความหวังและพลังศรัทธา” มันจะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ “ความรัก” คือ การที่เรามีความรักให้กับตัวเองและคนอื่น ๆ จะทำให้เราอยู่ในสังคมได้ดี “ความหวัง” คือ สิ่งที่จะทำให้เรามีเป้าหมายและมีแรงผลักดันในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น “ศรัทธา” คือ ความเชื่อ ถ้าเราเชื่อว่า เราสามารถทำงานทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้เราก็จะทำได้ ถ้าหากเรามี 3 สิ่งนี้ร่วมด้วยเราก็จะทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน
ฝากข้อความจาก “รุ่นพี่” ถึง “รุ่นน้อง”
อยากจะฝากถึงวัยรุ่นยุคนี้ชอบคิดเร็ว ทำเร็ว ใจร้อนเกินไป เช่นเห็นคนอื่นรวย ประสบผลสำเร็จ อยากจะเป็นเหมือนคนๆ นั้นแล้วก็ขอพ่อแม่ไปทำอะไรตามเขาไป โดยไม่ได้คิดวิเคราะห์เชิงลึกว่าการที่คน ๆ นั้นจะประสบผลสำเร็จได้พวกเขาต้องล้มเหลวมาก่อนนับครั้งไม่ถ้วน ระหว่างทางเจออะไรมาบ้าง การที่จะทำอะไรเราต้องคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ เรียนรู้เอาความผิดพลาดมาแก้ไข เรียนรู้มันและพัฒนาตนเองให้เกิดความสำเร็จ