เปิดใจทีมผู้จัดนิทรรศการ “Sparkle in your eyes”

“Sparkle in your eyes” นิทรรศการที่จะพาทุกคนไปท่องดินแดนศิลปะในโลกของจักรวาลดวงดาว

งาน “Sparkle in your eyes” จัดแสดงเมื่อวันที่ 25 – 27 เมษายน 2566 ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ Learning Exchange (LX) ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่รวมเหล่าผลงานนักศึกษามจธ. สาขามีเดียทางการแพทย์และสาขามีเดียเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก มาพร้อมกับ Workshops สุดปังที่จะพาทุกคนเปิดประสบการณ์การสร้างงานศิลปะในแบบของคุณ โดยในกิจกรรมทั้ง 3 วันก็จะมี Workshops ที่แตกต่างกันออกไป วันแรกจะเป็นกิจกรรมเพ้นท์ถุงผ้าเก๋ๆ วันที่ 2 พบกับกิจกรรมตัดกระดาษงานตัดแปะสุดเท่และวันสุดท้ายพบกับกิจกรรม Postcard สุดแนว ภายในงานยังมีกิจกรรมสอยดาว ซุ้มถ่ายรูปที่น่าแชะเก็บภาพความประทับใจกับผองเพื่อน โดยงานนี้เป็นงานเข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

สัมภาษณ์อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธุ์ เล่าถึงที่มาของการจัดกิจกรรมว่า

สำหรับกิจกรรมนี้เกิดมาจากวิชา Event design ซึ่งเทอมนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดสอนแล้วก็มีนักศึกษาของหลักสูตรมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์อยู่ในช่วงชั้นปีที่ 3 ของการเรียนการสอนพอดี ก็มีความคิดมาจากการเรียนการสอนมีเดียทั่วไป ก็จะมีวิชา Exhibition การจัดนิทรรศการ จุดเริ่มต้นของวิชานี้ครูมองว่า การที่ให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องการจัดนิทรรศการอย่างเดียวมันไม่พอและในปัจจุบันครูมองภาพงานทั้งหมดเป็นงานอีเว้นท์อยากให้พวกเขามองเห็นภาพแบบอีเว้นท์ งานอีเว้นท์ปัจจุบันมีหลากหลายไม่ใช่แค่มีการจัดแสดง เสวนา การซื้อการขาย ครูก็จะเริ่มสอนเรื่องอีเว้นท์คืออะไรมีความเป็นมายังไงมีกี่ประเภททำอะไรได้บ้าง พอสอนทฤษฎีทั้งหมดไปแล้วก็คิดว่า อยากจะรีเช็คดูว่าสิ่งที่เราพูดไปแล้วมีผลยังไงบ้าง ครูก็เลยให้พวกเขาได้มาฝึกการทำนิทรรศการหรือทำอีเว้นท์จริง ก็เลยต้องมีอะไรหลายๆอย่าง เริ่มต้นโดยที่ว่า ครูเปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นคนคิดงานทั้งหมดเลย แล้วครูก็จะคอยตามดูเป็นระยะ ตั้งแต่เริ่มต้นคุยงานในทุกสัปดาห์นักศึกษาต้องมานำเสนอให้ครูฟังว่า ทีมไหนทำอะไรบ้าง มีกลุ่มไหนทำอะไรบ้างทีละกลุ่มเพื่อเราจะได้รู้ว่ามีปัญหาหรือนักศึกษามองเห็น ขอบเขตงานครบหรือไม่ แม้กระทั่งรวมถึงเรื่องของการหาผู้สนับสนุน โดยปกติแล้ววิชาเรียนมีงบประมาณไม่ได้เยอะ ครูก็เลยต้องหางบส่วนหนึ่งเอามาช่วยแล้วก็ให้พวกเขาหาผู้สนับสนุนด้วย เพราะการจัดงานมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ พอเสร็จครูก็ประเมินคะแนนให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มแต่ละคน เขาทำอะไรบ้าง พอเสร็จจากงานนี้ไป นักศึกษาก็ต้องไปเขียนจุดเด่นจุดด้อยข้อเสนอแนะอะไรต่างๆ ทั้งหมดเลย ครูอยากให้เขาได้แชร์กันว่าสิ่งที่ที่ข้อดีของวิชานี้ที่ครูตั้งใจให้มันเกิดขึ้นได้ ครูอยากสอนให้นักศึกษารู้ว่าการจัดงาน    อีเว้นท์มันเป็นแบบไหนและอยากให้เห็นแม้กระทั่งว่าการที่เราจะจัดงานแบบนี้ได้ต้องมีเงินเท่าไหร่ ต้องรู้งบประมาณ สมมุติว่ามีเงินหนึ่งหมื่น จะทำอะไรได้บ้าง ทุกอย่างมันรวมไปหมดเลยประมาณนี้ครับ

เล่าถึงการเตรียมงาน และความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการเตรียมงานกับนักศึกษา

หลังจากเรียนทฤษฎีไปหมดแล้ว ครูก็เริ่มแจกแจงงานแต่ละสัปดาห์ว่านักศึกษาอยากจะทำอะไรอยากให้มีอะไรในงานบ้าง มีเดียเทคจะเก่งพวกอุปกรณ์และเทคโนโลยี มีเดียแพทย์เขาก็จะได้พวกเรื่องความสวยความงามเรื่องของภาพต่าง ๆ ทีนี้ก็มาแชร์กัน นี่ก็คือที่มา แล้วก็แต่ละสัปดาห์ทำอะไรบ้างสมมุติว่าธีมงานเป็นยังไง สัปดาห์นี้ก็จะมานั่งคุยกัน นักศึกษาก็จะนำเสนอให้ฟัง ครูก็เพียงแค่ช่วยดูถึงปัญหาต่าง ๆ คือติดตามงานตลอดทุกสัปดาห์ ความรู้สึกของผมนะผมก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในความที่ครูนั่งมองพวกเขา ครูแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ถามว่าพวกเขาทำเพื่อคะแนนไหมผมว่าก็ใช่ แต่เรารู้สึกว่าเขาทุ่มเทกันมาก มาคิดว่าคะแนนเท่าไหร่ถึงจะให้พวกเขาพอ เขาเตรียมงานทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็คะแนนงานนี้ก็ไม่ได้เยอะเพราะว่ามันมีงานอื่น ๆ ด้วย ก็ถ้าดู 3 วันนี้ที่ทำมาครูคิดว่าโอเค แต่ว่ามีประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ค่อยโอเคคือเรื่องของการประชาสัมพันธ์จัดหาคนเข้ามาชมงาน เพราะว่าการจัดงานมันเหนื่อย พวกเราและนักศึกษาทุ่มเททำกัน คนมาดูน้อยบางทีก็น่าเสียดาย โดยรวมเท่าที่ดูมาก็ประทับใจและผศ.บุญเลี้ยงก็ยังให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ขันว่า ยังไม่อยากบอกนักศึกษาเพราะเดี๋ยวนักศึกษาจะเหลิงครับ

ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มีประโยชน์อย่างไรกับวัยรุ่น

เยอะมาก ครูพูดเสมอว่าเรื่องครีเอทีฟเป็นเรื่องสำคัญมาก ศิลปะเป็นบันไดที่เปิดทางการสร้างสรรค์งาน ที่ต่างประเทศเค้าบอกว่างานศิลปะ งานครีเอทีฟ งานสร้างสรรค์เป็นบันไดแรกของเด็กเลย เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วครูไปสหรัฐอเมริกา เขาเอาเครื่องพิมพ์ 3D ที่เราใช้กันตอนปริญญาตรีไปให้เด็กมัธยมใช้ตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว นอกจากวิชา Event design ครูยังสอนวิชา Creative design อาจจะเปรียบเทียบเห็นว่ามันสำคัญยังไงเอามาใช้กับชีวิตประจำวันอะไรได้ไหม Creative design ครูจะให้พวกเขาสร้างสรรค์แนวความคิด มีคำถามหนึ่งที่ให้นักศึกษาไปว่า ทำไมคนไทยเราถึงไม่ชอบข้ามสะพานลอย หรือว่าไม่ชอบเดินข้ามทางม้าลาย เป็นคำถามที่ให้ไปแล้วให้นักศึกษาคิด การออกแบบไม่ได้ออกแบบแค่วาดเขียน ผมก็ออกแบบความคิดด้วยมีความคิดที่ดีและครูให้เขาเอาโจทย์สะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยเรานี่แหละ เขาก็วิเคราะห์กันออกมาได้ดีมาจากความคิดสร้างสรรค์ครีเอทีฟ คนไม่อยากข้ามเพราะอะไร สะพานลอยก็ร้อนก็ไม่มีหลังคาอะไรเลย ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะมีพวกปล้นจี้ซึ่งมันก็อันตรายแล้วก็มีสะพานลอยน้ำท่วมด้วย นี่คือประเทศไทยเค้าเขียนกันมา บางคนให้เหตุผลว่าไม่อยากขึ้นเพราะมันสกปรกตั้งแต่อยู่ราวสะพานแล้ว เขาก็พูดมาก็เป็นเหตุผลที่ดี หรือแม้กระทั่งว่าสะพานลอยมันอยู่ไกลจากป้ายรถเมล์ ทำไมผมจะไม่ข้ามตรงป้ายรถเมล์ตรงนี้ผมก็ข้ามสิเพราะอยู่ใกล้ สะพานลอยต้องเดินไปอีกถึงจะได้ข้าม มันก็เลยเป็นความคิดที่น่าสนใจ ก็มีเขามีความคิดอันหนึ่งว่าทำไมไม่ลงใต้ดินแล้วก็ไปนั่งคิดกันว่าลงใต้ดินต้องเสียเงินเยอะแล้วดีไซน์บ้านเราก็ไม่โอเค มันก็เลยไม่ชวนให้คนข้ามแล้วทางม้าลายทำไมคนถึงไม่ค่อยข้ามเพราะหนึ่งรถไม่ได้มีจิตสำนึกครับ เขาขับกันไม่ยอมหยุดแล้วเวลาครูขับรถก็คิดกลับไปเหมือนกันว่าทำไมคนข้ามอยากจะข้ามตรงไหนก็ข้ามตรงทางม้าลายอะไรก็ไม่ยอมข้ามไปในมุมคนขับรถ แล้วคนเดินข้ามก็บอกทางม้าลายอยู่ไกล ตรงนี้ที่ข้ามมันอยู่หน้าบ้านพอดีประมาณนี้ ต้องปลูกจิตสำนึกวิธีการคิดทุกอย่างมาจากเรื่องงานออกแบบหมด สัปดาห์นี้ครูปล่อยงานอีกตัวหนึ่ง ให้นักศึกษาไปดีไซน์ว่าสะพานลอยแบบไหนมันน่าขึ้นทางม้าลายแบบไหนมันน่าข้าม ก็ใช้ความคิดใช้ศิลปะเข้าไปสร้างสรรค์ตรงนี้

มุมมองของงานสายครีเอทีฟที่จะมีส่วนขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์ในอนาคต

ทุกวันนี้เรื่องครีเอทีฟเรื่องงานสร้างสรรค์มันเป็นเบอร์ 1 ของของโลก เราเห็นว่าเรื่องมีเดียเรื่องดิจิทัลทุกคนเข้าถึง ครูทำหลักสูตรมีเดียอาร์ตมีเดียทางการแพทย์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว วันนั้นหลักสูตรพวกนี้เขาจะเรียกว่าสื่อ สื่อศิลปะแต่ครูไม่ใช้คำนี้ครูอยากใช้คำว่ามีเดีย มีเดียของครูมันเกิดขึ้นมา 10 ปีที่แล้วอยากใช้คำว่ามีเดียให้เป็นราชการให้ได้ ให้อยู่ในหลักสูตรแต่ถ้าไปเปิดดูหลักสูตรสมัยเก่าก็จะมีคำว่าสื่อหมดเลย แต่ครูไม่เอาเพราะว่าถ้าคุณเป็นเด็กมัธยมอยากจะเข้าเรียนหลักสูตรที่เป็นคำว่าสื่อหรือคำว่ามีเดียล่ะ พอเห็นคำว่าสื่อ สื่อนฤมิตคืออะไร ต้องไปแปลอีกอะใช่ไหม ถ้าเอามีเดีย มีเดียอาตส์เคยเห็นในอินเทอร์เน็ต คือมาทำให้มันใกล้ชิดผมก็เลยว่าหลักสูตร ณ วันนั้นมาถึงวันนี้มันคือช่วงเติบโต ของสายงานพวกนี้แล้วหลายคนมีอาชีพอื่น ๆ วิศวะเอยแต่ว่ามาชอบด้านนี้มันเป็นอาชีพที่ดีแล้วเป็นอาชีพเสริมด้วย ยกตัวอย่างมีวันหนึ่ง ครูได้ไปบรรยายที่คณะIT เพื่อนครูเชิญครูไปบรรยายเรื่องงานออกแบบดีไซน์ แล้วก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง พอจบก็ไม่ทำอาชีพจากสายการเรียน ตอนครูไปสอนเขาดีใจมาก ว่าเขาได้เจอทางของเขาโดยที่เขาไม่ได้เป็นเป็นคนเขียนโปรแกรม พอครูไปพูดเรื่องออกแบบและศิลปะเขาว้าวคิดว่านี่คืออาชีพที่เขารัก หลังจากนั้นมาเขาก็ทำงานดีไซน์แล้วก็ส่งมาให้ครูช่วยดู ช่วยวิจารณ์งานตลอดเลยเขาเป็นคนขยัน วันหนึ่งเขาก็ทำงานขายของออนไลน์ก็ต้องใช้งานออกแบบทำเว็บทำบรรจุภัณฑ์เขาประสบความสำเร็จโดยที่ขายออนไลน์ในวันนั้นกับเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว พอหลังจากนั้นเค้าไปขายพวกอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ปรากฏว่าทำพักหนึ่งโควิดมาแล้วโควิดกับคนที่ขายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์มันทางเดียวกัน เขากลายเป็นคนรวยเพราะจังหวะมันพอดี เคยขายถุงมือได้ร้อยกลายเป็นขายถุงมือได้ล้าน ก็มาจากเรื่องของครีเอทีฟเรื่องของความรักในศิลปะ แล้วก็มีตัวอย่างอีกหลาย ๆ เช่นคนที่เขาเรียนหมอมาทั้งชีวิตแล้วมาเจอการถ่ายรูป การวาดภาพ เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเลยก็มีเพราะทำให้เขามีความสุข ครูก็มีความสุขมาก ๆ ที่ทุกวันนี้ครูก็เป็นนักออกแบบก็เป็นการบำบัดไปในตัว ซึ่งมันอาจจะต่างกับสายงานอื่น ถามว่าถ้าคนทำอาชีพอื่นไม่ใช่ครูก็อยู่ได้นะมีอาชีพมีเงินพอสมควรแต่บังเอิญว่าครูไม่ได้มุ่งไปทางธุรกิจก็มุ่งมาทางการเรียนการสอนก็คิดว่าคนที่จับสายงานออกแบบงานมีเดียงานศิลปะในปัจจุบันเนี่ยอยู่ได้ยาว ๆ แล้วก็ไปได้ยาว คุณจะเห็นว่าทุกวันนี้เรื่องมีเดียเทคโนโลยีเปลี่ยนและเกิดใหม่ตลอดเวลา อย่าง AI คือต้องเปลี่ยนไอเดียความคิดเมื่อก่อนก็คิดว่าเราเป็นคนสร้างสรรค์ผลงานแต่ว่าอาจเจอ AI จะทำอย่างไรหลายคนอาจจะตั้งรับเรื่องนี้ไม่ได้แต่ครูคิดว่าเป็นข้อดีที่เราจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ที่เราไม่รู้จักแล้วก็เอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์หลายคนคิดว่า AI มันมาฆ่าเราแต่ครูคิดว่าไม่ใช่ มันทำให้เราทำงานง่ายและเร็วขึ้น

ฝากถึงกิจกรรมอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อยากเสนอและแนะนำให้การเรียนการสอนไม่ว่าจะภาควิชาไหนหรือคณะอะไร อยากให้เอาไปสู่การทำกิจกรรมที่เป็นจริง ถ้าสมมุติว่าคุณเรียนอะไร 2–3 ตัวพร้อมกันแล้วก็มาทำงานชิ้นหนึ่งของแต่ละวิชา อยากให้เอาวิชาหลายตัวทำงานออกมาหนึ่งชิ้น เพราะบางทีอาจารย์เองก็แข่งกันให้ส่งงานตอนท้ายเทอม ซึ่งแบบนี้อาจทำให้งานออกมาไม่ดีนัก แต่ถ้าหากอาจารย์ 4 คน 4 วิชามารวมกันแล้วก็บอกว่าจะทำหุ่นยนต์สักตัวหนึ่ง อาจารย์แต่ละด้านก็มานั่งคุยกันว่าทำอย่างงี้สิ วิชาเราให้เด็กสร้างแบบนี้ แล้วก็มาตรวจด้วยกัน ผมทางมีเดียก็จะดูว่าหุ่นยนต์ตัวนี้มันมีหน้าตามีความงามเป็นอย่างไร อาจารย์วิศวะ ก็มาดูว่ากลไกมันเป็นอย่างไร อาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ก็มาดูเรื่องระบบซอฟต์แวร์เป็นยังไงอะไรประมาณนี้ สุดท้ายคุณก็จะได้ประโยชน์คือได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อน ๆ หลายสาขาแล้วก็ได้แชร์กับอาจารย์หลายคน ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มากครูก็ยอมเหนื่อยนะ จริง ๆ ครูไม่ต้องทำไม่สนใจก็ได้ แต่มันไม่คุ้มกับสิ่งที่นักศึกษาลงแรงไปก็อยากให้มันเกิดประโยชน์แล้วพวกเขาได้ใช้ประโยชน์ แล้วนี่คือวิชาทะเลาะ เด็กทะเลาะกันในการทำกิจกรรมโครงการต้องมีปัญหา เช่น ทำไมเพื่อนคนนี้ไม่ชอบทำงาน ถ้าประธานโครงการเก่งเขาจะรู้วิธีการแก้ปัญหาเขาก็จะได้เก่งวิชาแก้ปัญหา จะเอาคนนี้มาช่วยงานอย่างไรทำไมเพื่อนถึงไม่ทำงานที่มอบแสดงว่าเขาอาจจะชอบงานอีกอย่างอะไรประมาณนี้ คนเหล่านี้มีอยู่แล้วในสังคมแต่ว่านี่คือสังคมแบบไม่ต้องเสียเงินไม่มีเงินเดือน แต่พอไปอยู่บริษัทหรือการทำงานในอนาคต ถ้าเขาไม่โอเคคือต้องออก นี่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีอยากให้ทำกิจกรรมเช่นนี้กับการเรียนการสอนบ่อย ๆ เมื่อก่อนมีเดียอาร์ตของเราเคยจัดงานตลาด คือเอาของที่เขาทำหรืองานของนักศึกษาเอามาขายกัน ซึ่งมันทำให้มีรายได้ ลองไปดูพวกอย่างงานศิลปะ งานออกแบบ ภาพถ่าย พวกเราสามารถที่จะประกอบอาชีพตรงนี้ได้เลย สมมุติคุณชอบถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ คุณก็ถ่ายภาพถ่ายวิดีโอขายก็ได้ ถามว่าคู่แข่งเยอะไหม เยอะแต่เราต้องเป็นที่หนึ่งนะ ถ้าเราบอกว่าเห็นคนเยอะแล้วเราไม่เอา เรายอมก็แพ้ตั้งแต่แรกแล้วเราไปทำอะไรไม่ได้แต่ถ้าเราคิดว่าคนยิ่งเยอะยิ่งดีเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเรา แล้วถ้าเราประสบความสำเร็จมันก็ไปได้ สบายมาก ลองดูครับ

สัมภาษณ์อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

อ.ระลึก อินเสมียน ได้เล่าถึงรายละเอียดและคอนเซ็ปต์การจัดงานว่า

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการจัดงานภายใต้วิชา Event design โดยมีอาจารย์ผู้สอนคือ ผศ.บุญเลี้ยง เป็นการสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนมาเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม ที่ให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ของการชมงานที่หลากหลายมากขึ้น

เล่าการทำงานและการเตรียมงาน

นักศึกษาทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมการเตรียมงาน ตั้งแต่การคิดคอนเซ็ปต์งาน การประสานงาน การออกแบบการนำเสนองาน และที่สำคัญคือการสร้างสถานการณ์ของการเรียนรู้ หรือสถานการณ์ที่เหมาะสมกับการใช้มีเดียในการนำเสนอเรื่องราว

เล่าความมันส์ของการเรียนมีเดีย มจธ.

นอกจากจะได้พบกับบรรยากาศสุด Extreme ในท้องทุ่งป่าโกงกางและชายทะเลบางขุนเทียนแล้ว การได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติจะช่วยให้นักศึกษาได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ไอเดียที่ไม่รู้จบ

ฝากเพื่อนๆน้องๆติดตามกิจกรรม และชวนน้องๆมาเรียนที่มีเดียอาตส์

ถ้าน้องๆอยากรู้ว่าความ Extreme ของการเรียนมีเดียมันสุดแค่ไหน อย่าลืมกดติดตามกิจกรรมของเราชาวมีเดีย หรืออยากมาเป็นครอบครัวมีเดียก็อย่าลืมสะสมผลงานสวยๆ ไว้มาอวดตอนสมัครเรียนที่นี่ด้วยกันและติดตามรายละเอียดการสมัครเรียนได้ที่ admission.kmutt.ac.th นะครับ

สัมภาษณ์ตัวแทนนศ.จากบูทกิจกรรม

นางสาว ชญาดา จันทร์หอม นักศึกษาจากมีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

เล่าความสนุกของกิจกรรมบูทเรา

กิจกรรมของเรามี 3 Workshops ในแต่ละวันก็จะจัดกิจกรรมไม่เหมือนกันค่ะ วันแรกจะเป็นเพ้นท์กระเป๋านะคะในวันที่ 2 ก็จะเป็น Paper cut collage แล้วก็วันสุดท้ายจะเป็นการทำ Handmade postcard คือทั้ง 3 กิจกรรมเราจะให้ทุกคนได้ออกมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกและใช้เวลาในการทำเหมือนออกมาผ่อนคลายค่ะ

สิ่งที่จะได้รับกลับไปหลังจากมาร่วมงาน”Sparkle in your eyes”

ถ้าเป็นนักศึกษามจธ.ก็จะได้รับชั่วโมงกิจกรรม 3 ชั่วโมง ส่วนในด้านอื่นๆก็จะได้รับความรู้ ความสนุกสนานค่ะ ได้ความคิดสร้างสรรค์และได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ได้ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวเองออกมาค่ะ

ฝากถึงน้องๆคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในศิลปะ สำหรับคนที่มีใจรักในศิลปะก็อยากให้ได้ใช้เวลากับมัน ได้ฝึกฝนทักษะพัฒนาตนเอง ได้ศึกษาค้นคว้าหาหลายๆแบบจะได้รู้ว่าตนเองแบบชอบแบบไหนหรือว่าเหมาะกับอะไรค่ะ

สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

นางสาว ธนัญชนก บรรจงจินดา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาชั้นปีที่ 1

กิจกรรมที่ชอบที่สุดในงานวันนี้ พร้อมเหตุผล

ชอบกิจกรรม Handmade postcard เพราะรู้สึกว่าเวลาได้ทำงานศิลปะมันได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แล้วก็รู้สึกสบายใจค่ะ

ประโยชน์ของศิลปะกับการใช้ชีวิตและเติบโตในอนาคต

คิดว่ามันช่วยขัดเกลาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองค่ะซึ่งงานในอนาคตมันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับศิลปะโดยตรงแต่ว่าถ้าเรามีความรู้ด้านศิลปะก็สามารถเอาไปแบบเชื่อมในงานต่าง ๆ ใช้ประยุกต์ได้

อยากให้มหาวิทยาลัยหรือคณะจัดงานเกี่ยวกับศิลปะอีกหรือไม่ ขอไอเดีย หรือลองเสนอมาได้เลย เผื่อจะสามารถจัดได้

อยากให้จัดอีกค่ะรู้สึกชอบมากงานจัด 3 วันก็มาทุกวันเลย อยากให้มีกิจกรรมศิลปะแบบนี้เยอะ ๆ และอยากแนะนำเรื่องจัดดอกไม้ คิดว่ามันน่าสนใจดีแล้วก็แปลกใหม่ด้วยค่ะ

คุณ มณฑิรา สนธิกุล ช่างภาพอิสระ

ประทับใจอะไรที่สุดในงาน พร้อมเหตุผล

ประทับใจกิจกรรม Workshops Handmade postcard เพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ได้คิดสร้างสรรค์จินตนาการ ได้ใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นทำให้ผ่อนคลายรวมถึงทีมงานในบูธกิจกรรมก็อำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี

คิดว่าศิลปะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพาการทำงานของเราได้อย่างไรบ้าง

ช่วยทำให้ผู้คนอารมณ์ดีขึ้น ลดความวิตกกังวลและลดความเครียด ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของวัยทำงานและยังเป็นการช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ช่วยปรับอารมณ์ให้เราพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงสามารถพัฒนาสร้างสรรค์งานให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย

ให้กำลังใจน้องๆทีมจัดงานหน่อย และฝากเชิญชวนคนอื่นๆมาร่วมงาน

ขอเป็นกำลังใจให้คณะทำงานทุกฝ่ายในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้และขอให้งานราบรื่นไปได้ด้วยดี ขอเชิญชวนนักศึกษาและทุกคนมาชมและเข้าร่วม Workshops ในกิจกรรมนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้ความสนุกและได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย