The Dramatic House หนึ่งในวิชาโครงงานของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยได้ทำการสร้างสรรค์ละครเวทีสุดซาบซึ้งที่ตราตรึงใจของทุกคน The moment in time ณ ห้วงเวลานั้น
The moment in time ณ ห้วงเวลานั้น ทำการแสดงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 และวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ณ อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ Learning Exchange (LX) ชั้น 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ละครเวทีสะท้อนสังคมที่จะพาให้ทุกคนได้รู้จักและทำความเข้าใจในเพศต่างๆ เพราะละครเวทีเรื่องนี้ สอดแทรกเรื่องของความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ภายในงานยังมีบูธขายอาหารและเครื่องดื่มมากมายที่จัดขายโดยน้องๆดรุณสิกขาลัยอีกด้วย
เรื่องย่อ
ชลธร เด็กหนุ่มที่มีความรักในเพศเดียวกัน เก่งด้านวิชาการแต่ไม่เก่งด้านกีฬา ชลธรแอบชอบรุ่นพี่สุดฮอตอย่างกวิน ชลธรต้องมาฝึกเล่นกีฬาฟุตบอลเพราะต้องการจะสมัครเข้าชมรมเนื่องจากจะสะสมผลงานเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ในขณะเดียวกันครอบครัวของกวินก็มีความคาดหวังที่จะให้กวินเป็นประธานชมรมฟุตบอลเพราะต้องใช้คะแนนด้านกีฬาเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังเช่นกัน แต่กวินไม่เก่งด้านวิชาการ ทั้งสองคนจึงพลัดกันช่วยสอนในสิ่งที่ตนถนัด วันหนึ่งกวินก็ได้เป็นประธานชมรมฟุตบอลอย่างที่หวัง แต่ชลธรนั้นคัดตัวเข้าชมรมฟุตบอลไม่ผ่านเพราะครูหมอกเห็นว่าชลธรไม่ใช่ผู้ชายแท้จึงไม่อยากรับเข้าชมรม เมื่อกวินรู้เข้าว่าชลธรไม่ติดชมรมอย่างไม่ยุติธรรมจึงลาออกจากการเป็นประธานชมรม ชลธรรู้อย่างนั้นจึงเริ่มตีตัวออกห่างจากกวินเพราะคิดว่าตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้กวินต้องออกจากการเป็นประธานชมรมและมีผลต่อการเข้ามหาลัยของกวิน ครูกาล ครูประจำชั้นของชลธรจึงไปต่อว่าครูหมอก เมื่อเรื่องถึงหูผู้อำนวยการโรงเรียน ครูหมอกโดนปลดจากการเป็นครูประจำชมรมฟุตบอลที่ตนรัก ชลธรจึงหันไปฝึกเล่นกีฬากรีฑาแทนและหลบหน้ากวินจนถึงวันที่กวินจบการศึกษา ความพยายามของชลธรทำให้ชลธรได้คว้ารางวัลกรีฑาและได้เป็นประธานนักเรียน ชลธรก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยอย่างที่ตนหวัง วันหนึ่งครูหมอกเปลี่ยนความคิดเปิดใจยอมรับกับเพศอื่นๆมากขึ้น หลายปีผ่านไปชลธรได้กลับมาเจอกวินอีกครั้งในวันเลี้ยงรุ่นของโรงเรียน ทั้งสองจึงได้ปรับความเข้าใจและจนในที่สุดทั้งสองก็ตกลงเป็นแฟนกัน
สัมภาษณ์นักแสดง
ครูโอห์ม ผู้รับบท กวิน (ตอนโต) ได้เล่าถึงบทบาทที่ตนได้แสดงว่าเป็นผู้ที่โตมามีความหลากหลายทางเพศ มีความรักในเพศเดียวกัน ความยากของการแสดงคือ ต้องแสดงกับเพื่อนนักแสดงที่เป็นผู้ชายด้วยกัน ซึ่งไม่คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์ในการแสดงออกสีหน้าท่าทางกับเพศเดียวกัน จึงเป็นความยากในการแสดง
มุมมองเกี่ยวกับ LGBTQIA+
จริงๆทุกคนก็เป็นคนเหมือนกันนะครับ ในโรงเรียนก็มีคุณครูหรือนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราก็ไม่เห็นความแตกต่างอะไร เป็นคนที่สร้างสีสันสร้างเสียงหัวเราะให้พวกเราด้วยซ้ำ
ความรู้สึกหลังจากแสดงละครจบ
ตอนแรกก็กังวลในการแสดงออกด้าน LGBTQ คือผู้ชมไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่รวมถึงผู้ปกครองจะเข้าใจที่เราต้องการจะสื่อสารไหม ซึ่งพอทำจริงๆผลตอบรับค่อนข้างดี ผู้ปกครองก็ชื่นชมว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นการสอนให้คนหรือเยาวชนได้เข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ พอออกมาทุกคนก็ชื่นชมทั้งเด็ก นักแสดงด้วยกัน รวมถึงครูผู้ฝึกซ้อม เพราะเราเป็นครูไม่ได้เป็นนักแสดงมืออาชีพ
สัมภาษณ์นักแสดง
ดร.คมสัน รับบท ครูหมอก ได้เล่าถึงบทบาทที่ตนได้รับว่า เป็นคนยุคเก่าที่ยังไม่เปิดใจยอมรับในเรื่องของเพศที่ 3 ซึ่งจริงๆ ก็มีมากกว่า 3 แล้วนะครับ
ในยุคปัจจุบัน อย่าง LGBTQ ที่เราทราบกันดีจากในเนื้อเรื่อง พอผ่านจุด Crimax ตัวละครจะพาให้เกิดการเรียนรู้ และชวนให้เรานึกถึงมุมมอง ว่าเราควรจะเข้าใจกลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างไร เราจะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีความสุขในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร ทัศนคติ ความเท่าเทียมระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดสุขภาวะที่ดี คาแรกเตอร์ของตัวละครในตอนท้ายเรื่อง จะสะท้อนเรื่องความคิด Mindset ที่แตกต่าง สิ่งแวดล้อมคนรอบตัว ช่วยให้พลิกมุมมองในทางที่ดีขึ้น
มุมมองเกี่ยวกับ LGBTQIA+
ผมมองว่ายุคนี้เป็นยุคของความเท่าเทียม ผู้ชายผู้หญิงต่างก็แสดง
ตัวตนที่เป็นเราออกมา แล้วทำไมกลุ่มคนที่เขามีความหลากหลายทางเพศ จะต้องมาหลบซ่อน ปกปิดหรือต้องมาแก้ต่าง ให้เหตุผลต่างๆ นานา เพื่อให้อยู่ในเงื่อนไขของสังคมได้
แล้วทำไมสังคมไม่ให้ความเท่าเทียมกับความหลากหลายบ้าง เรายังใส่เสื้อ ใช้รถ คนละสีได้เลย ก็เลยเกิดมุมที่ว่า ณ วันนี้โลกพัฒนา
ไปไกลมากแล้ว ต่อให้เป็นเพศที่ 3
เขาก็มีความสามารถไม่ได้ต่างกับเพศชายหรือเพศหญิงเลย ไม่ว่าเพศไหนก็มีทั้งดีและไม่ดีนะครับ สิ่งที่แสดงออกมา ทักษะความรู้ วิธีคิด ภาวะผู้นำ ความเห็นอกเห็นใจ มีเหมือนกัน เท่าเทียมกันหมด จะชำนาญมากน้อยก็ต่างไปตามถนัด
สาระสำคัญน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่าเรื่องเพศครับ
บทบาทที่ได้รับ มีความเหมือนหรือต่างจากตัวตนจริงๆอย่างไรบ้าง
เรียนตามตรงว่าค่อนข้างแตกต่างมาก ส่วนตัวผมเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความเท่าเทียมในเรื่องเพศมากนะครับ แล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศอย่างเดียวในเรื่องวัยก็เช่นกัน หลักยึดหนึ่งที่ผมมักจะยึดเป็นประจำก็เป็นหลักปฏิบัติของดรุณสิกขาลัยครับ ก็คือจงปฏิบัติต่อผู้อื่นเฉกเช่นที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อครับ
เรื่องราวนี้สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้เราบ้าง
แน่นอนครับในเรื่องมุมมอง ผมเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่ยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่นะครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ต้องให้เวลาสร้างความเข้าใจ สังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ทำไมเราถึงลุกขึ้นมาสะท้อนว่าทุกคนจะต้องได้รับโอกาสนะ ทุกคนจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีนะ แล้วทำไมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราจะให้ความสำคัญไม่ได้ ปรับเปลี่ยนมุมมอง ลองคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะไปเติมเต็ม ไปเติมจุดเปลี่ยนอะไรได้ไหม หรือแม้กระทั่งละครที่เราแสดงออกมา คำพูดบางประโยคที่อาจจะไปสะท้อนใจให้กับบางคนได้ฉุกคิด ผมมองว่าจุดเล็กๆนี้ น่าจะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ครับ
สัมภาษณ์ผู้กำกับ
ครูโอปอล์ ผู้รับบท นภัทร (อาของชลธร) และเป็นผู้กำกับละครเวทีเรื่องนี้อีกด้วย
แรงบันดาลใจในการสร้างละครเวทีเรื่องนี้
จุดเริ่มต้นคือเรื่อง LGBTQ จริงๆคิดเรื่องนี้มาสักพักแล้วเพราะก่อนหน้านี้ได้ทำหนัง แล้วในหนังจะมีคล้ายกับปมคาไว้ว่า ลูกชายของพ่อกับแม่จะมีเพื่อนสนิทเป็นผู้ชาย แล้วตัวละครแม่ก็บอกว่าลูกจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขา แต่เราพูดถึงแค่นั้นไม่ได้พูดต่อกับเรื่อง LGBTQ จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีหลายอย่างในเรื่อง LGBTQ ที่เราเห็นว่ามันจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งในเรื่องของสมรสเท่าเทียมต่างๆ เราก็เลยเล็งเห็นว่าตรงนี้ยังรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราอยากจะรณรงค์และกระตุ้น รวมถึงเด็กๆในโรงเรียนที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากนัก เลยอยากสร้างอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาตระหนักและศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย
มุมมองเกี่ยวกับ LGBTQIA+ และทำไมจึงต้องการนำเสนอเรื่องนี้
เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าพูดถึงเรื่อง LGBTQ ในสมัยก่อนเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับครอบครัวแต่ในปัจจุบันที่เปิดกว้างเชื่อว่าหลายคนคงจะเปิดใจแต่อาจจะยังไม่เข้าใจ เราจึงอยากจะสร้างความตระหนักให้ทุกคนรู้ว่าจริงๆแล้ว LGBTQIA+ คืออะไรและเราต้องอยู่กับมันยังไงบ้างเพราะว่ามันเป็นเรื่องใหญ่นะครับ เริ่มจากสถาบันครอบครัวเลยถ้าในครอบครัวเราดูแลไม่ดีเราไม่เข้าใจอะไรต่างๆอาจจะเกิดเหตุต่างๆตามมา
คุณกังวลเรื่องอะไรบ้างในช่วงเริ่มต้น และอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการทำละครเวทีเรื่องนี้
กังวลที่สุดคือเรื่องของการสื่อสาร เพราะเราไม่รู้ว่าในปัจจุบันสังคมหรือผู้ที่มาชมละครจะมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ก็มีความกังวลเล็กๆว่าบทของเราจะส่งผ่านไปถึงผู้ชมได้รับสารที่เราต้องการสื่อสารหรือไม่ ในส่วนของความยากในการทำงานคือเรื่องเวลาเพราะว่านักแสดงและทีมงานอาจจะมีเวลาที่ไม่ตรงกันทำให้มีเวลาซ้อมรวมกันทั้งหมดค่อนข้างน้อย
หวังว่าคนดูจะได้อะไรกลับไปจากละครเวทีเรื่องนี้
คิดว่าครอบครัวกับคนรอบข้างน่าจะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น คิดว่าคงจะมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ผู้ชมฉุกคิดแล้วก็ตระหนักเพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIA+ กันมากขึ้น เราก็สามารถบอกต่อกับคนอื่นๆที่อาจจะไม่ได้มาชมละครว่า จริงๆแล้ว LGBTQIA+ คืออะไร สามารถบอกข้อมูลที่ถูกต้องแล้วก็คงจะมีการสร้างแรงกระเพื่อมมากขึ้น ก็จะได้ลดการบูลลี่ด้วยเพราะเด็กๆหลายคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ
ฝากผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ฝากติดตามด้วยนะครับสำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะมีด้านนิเทศศาสตร์อย่างเทอมที่แล้วก็จะมีเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของโรงเรียนนะครับ แล้วอันนี้ก็เป็นเหมือนทีมละครชุดบุกเบิกที่เราทำละครแบบจริงจังที่เปิดให้เข้าชมในรูปแบบ Black Box Theatre ก็ต่อไปจะเป็นการแสดงในรูปแบบไหนอย่างไรก็ฝากติดตาม คิดว่าน่าจะมีอะไรสนใจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
สัมภาษณ์ผู้ชม
ชื่นชอบอะไรที่สุดในละครชุดนี้
นักแสดงแต่ละท่านร้องเพลงเพราะแสดงเก่งสนุกมากชอบทุกอย่างทั้งตัวละครและเนื้อหา โอเคกันหมดเลยแต่ว่าบางทีอาจจะมีฉากที่ยังไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่แต่ว่าโดยรวมใช้ได้ แต่ที่ชอบมากเป็นพิเศษคือเนื้อหาที่แทรกอยู่ในแต่ละฉากที่พยายามจะสอนหรือว่าให้กำลังใจเด็กในทุกด้านด้วย
ละครเวทีชุดนี้ให้แง่คิดและมุมมองอะไรใหม่ๆบ้าง
ให้แง่คิดว่าตัวของเราไม่ต้องพยายามทำอะไรเพื่อพิสูจน์อะไร ทำเพื่อตัวเองก็พอไม่ต้องพิสูจน์เพื่อให้ใครเห็น เราควรยอมรับในสิ่งที่เราเป็น แล้วก็อยากจะบอกในเด็กแต่ละคนว่าควรมีความมั่นใจในตัวเองไม่ต้องฟังเสียงรอบข้างมากจนเกินไป
ความรู้สึกก่อน และหลังรับชมละครเวที
ก่อนรับชมรู้แค่ว่าในเรื่องตัวเอกจะเป็นแนวไหนแต่ไม่คิดว่าในเรื่องจะสอนอะไรให้เราหลายๆอย่างให้เรารู้ในเรื่องของมุมมองและเข้าใจตัวละครขึ้น และดีกว่าที่คาดไว้มาก มีการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา มุมมองที่มีต่อคุณครูทุกท่านน่าจะเปลี่ยนไปเยอะเลย คุณครูเก่งมากขอนับถือค่ะ
อยากฝากอะไรถึงนักแสดงและผู้กำกับละคร ที่ร่วมกันจัดงานนี้
ขอขอบคุณครูโอปอล์ที่ทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาให้เด็กได้มีโอกาสร่วมแสดงความสามารถแล้วก็สร้างเรื่องราวให้ผู้คนที่มาชมได้ความรู้แล้วก็ความบันเทิงด้วยครูทุกท่านรวมทั้งเด็กๆตั้งใจมากเห็นถึงความตั้งใจแล้วก็แสดงเต็มที่ทุกท่านเก่งทุกคนขอชื่นชม อยากให้จัดอีกค่ะ
สัมภาษณ์ผู้ชม
ประทับใจอะไรที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้
ประทับใจทุกอย่างเลยค่ะไม่ว่าจะเป็นแสง สี เสียง ตัวละคร บทละครหรือว่าน้ำเสียง ในการพูดของตัวละครต่างๆ
มุมมองต่อเนื้อเรื่องที่นักเรียนต้องการสื่อสารในละคร
มุมมองก็ดีนะคะยุคนี้เป็นยุคใหม่แล้ว LGBTQ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะให้สิทธิ์ความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชายความเท่าเทียมต้องได้เท่ากัน