7 นักวิจัย มจธ. รับทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประจำปี 2568

มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2568 (Research Grant Award Ceremony 2025) โดย มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับทุน และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหารมูลนิธิกระจกอาซาฮี ผู้บริหารบริษัทในเครือ AGC Group และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนวิจัย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ณ ห้อง LIB 108 อาคารสำนักหอสมุด

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่าทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮีเป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์สังคมและอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต โดยมูลนิธิฯ ได้มอบทุนให้ มจธ. อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 ซึ่งในปีนี้ มจธ. ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน  50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3.2 ล้านบาท ให้กับ 7 โครงการ ใน 5 สาขาการวิจัย ได้แก่

1) สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การศึกษาเซนเซอร์ยืดหยุ่นแบบนำไฟฟ้าไอออนิกจากยางธรรมชาติเพื่อการติดตามการเคลื่อนไหวของมนุษย์ โดย ดร.วิชชุดา ธงกิ่ง ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์

2) สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การศึกษาคุณสมบัติของเอนไซม์คาร์บอกซีเอสเทอเรสจากแบคทีเรีย Planococcus สายพันธุ์ PP5 สำหรับการย่อยสลาย PET เพื่อส่งเสริมการอัพไซเคิล PET โดย ผศ. ดร.จิรายุส เอื้อนรเศรษฐ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

3) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1) จากขีดจำกัดระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับภูมิภาค: การประเมินความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแบบสมบูรณ์สำหรับวิกฤตหลักสามประการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Prof. Dr. Shabbir H. Gheewala บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

2) อาร์เอ็นเอซีเควนซิ่งสำหรับการวิเคราะห์ฟังก์ชั่นยีนที่เกี่ยวข้องกับเมทาโนจีนิกเมตาบอลิซึมในกระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนที่มีวัสดุนำไฟฟ้าเป็นตัวกลาง โดย ดร.วรรธนศักดิ์ สุขสง สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ

4) สาขาพลังงาน (Energy) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ นวัตกรรมการประยุกต์ใช้ไฟฟ้าสถิตและสนามแม่เหล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตไฟฟ้า โดย ผศ.ดร.วันดี อ่อนเรียบร้อย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

5) สาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1) โครงการการสำรวจห่วงโซ่อุปทานและนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของท้องถิ่นญี่ปุ่นและไทยเชิงเปรียบเทียบ: กรณีศึกษาผ่านการจับคู่หกจังหวัดของไทยและญี่ปุ่น โดย ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

2) กลไกการพัฒนานักเรียนในจังหวัดราชบุรีด้วยการบูรณาการการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และฐานทรัพยากรท้องถิ่นสู่อาชีพ โดย ผศ. ดร.ปณัตดา ยอดแสง มจธ.ราชบุรี

ทั้งนี้การนำเสนอผลงานจากนักวิจัยที่ได้รับทุนที่ผ่านมา จำนวน 11 ผลงาน ได้แก่ 1) รศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ ผลงานเรื่อง การออกแบบวัสดุที่มีรูพรุนจากกระบวนการพิมพ์สามมิติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลตอบสนองเชิงกลและเชิงชีวภาพสำหรับวัสดุทดแทนกระดูกประเภทโลหะ 2) ผศ. ดร.นนท์ ทองโปร่ง ผลงานเรื่อง การพัฒนาคำอธิบายที่ถูกต้องของวัดกระแสไฟฟ้าที่ถูกจำกัดด้วยประจุอิสระหลังถูกป้อนด้วยศักย์ไฟฟ้าในชั้นฟิล์มบางวัสดุเพอรอฟสไกต์สำหรับการวัดคุณสมบัติการนำพาประจุที่แม่นยำ ด้วยการศึกษาเชิงการคำนวณด้วยการเรียนรู้ของเครื่องและการทดลอง 3) ดร.กิตติชัย ไชยสีดา ผลงานเรื่อง ตัวเร่งปฏิกิริยาที่แยกออกได้ด้วยแม่เหล็กสำหรับการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล 4) ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผลงานเรื่อง ยางธรรมชาติฆ่าเชื้อผสมเศษล้อยางรถยนต์จากกระบวนการเตรียมแบบหลอมและแบบน้ำยางเพื่อขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ 5) ผศ. ดร.พัชรวัฒน์ เจริญอมรกิตติ์ ผลงานเรื่อง การพัฒนาการหาทอพอโลยีที่เหมาะสมที่สุดที่มีการช่วยเหลือของการเรียนรู้ของเครื่องสำหรับการหาโครงสร้างอิเล็กโทรดสำหรับอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าเคมี 6) ผศ. ดร.ดุจเดือน วราโห ผลงานเรื่อง การคัดเลือกนาโนบอดี anti-PCSK9 จาก synthetic camelized human nanobody library เพื่อลด LDL-cholesterol สำหรับการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง 7) ผศ. ดร.ภุมรี นามเขียว ผลงานเรื่อง การศึกษาการตอบสนองระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ภายหลังการเหนี่ยวนำให้เกิดอะไมลอยด์ด้วยโมเลกุลขนาดเล็กในเซลล์ประสาทเพาะเลี้ยงแบบ 3 มิติเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ 8) ดร.กันทรากร มาเจริญ ผลงานเรื่อง การพัฒนาการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากระบบการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช 9) รศ.ดร.อธิปัตย์ บุญเหมาะ ผลงานเรื่อง การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการสื่อสารแบบออนไลน์และทักษะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ในประเทศไทยหลังจากช่วงชีวิตวิถีใหม่ 10) ผศ. ดร.สุรพงษ์ รัตนกุล ผลงานเรื่อง การกำจัดสารกลุ่มเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (PPCPs) และผลทางพิษวิทยาในน้ำโดยกระบวนการออกซิเดชั่นขั้นสูงที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลต และ 11) ดร.วรธา กลิ่นสวาท ผลงานเรื่อง OtGene: เครือข่ายความร่วมมือด้านพันธุศาสตร์ประชากรเพื่อการอนุรักษ์และปราบปรามการค้านากผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย