รายวิชา SSC263 การสร้างผู้นำ ร่วมกับโครงการพระจอมเกล้าศึกษา จัดโครงการภาคสนาม ลงศึกษา 5 พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

โครงการพระจอมเกล้าศึกษา จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงบทบาทของบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรากฐานของวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้และการวิจัยที่สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัย

ในส่วนของ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของนักศึกษา ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ โดยเฉพาะในรายวิชา SSC263 การสร้างผู้นำ (Developing Leaders) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ภาวะผู้นำทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถสะท้อนและวิเคราะห์ภาวะผู้นำผ่านกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของพระจอมเกล้า ที่มุ่งเน้นบริบทของศิลปศาสตร์

ผ่านการจัดโครงการการศึกษาภาคสนาม เพื่อลงศึกษา 5 พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ

  1. เกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)
  2. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)
  3. พระนครคีรี และถ้ำเขาหลวง จ.เพชรบุรี (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568)
  4. องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568)
  5. พิพิธภัณฑ์และโบราณสถาน จ.อยุธยา (เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568)
    โดยมี คุณวิศวะ ชินโย นักวิชาการอิสระ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดเชิงวิเคราะห์ในแต่ละพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาวะผู้นำในเชิงบูรณาการ

ต่อเนื่องจากโครงการการศึกษาภาคสนาม รายวิชายังได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการศึกษาภาคสนาม ขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ณ Learning Café สำนักหอสมุด มจธ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้นักศึกษาและผู้เข้าร่วมได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านบทความและความเรียง พร้อมการนำเสนอ บทวิเคราะห์ และการวิพากษ์ผลงาน ในบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.อมรวิทชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. กล่าวเปิดกิจกรรม และ ดร.ทศพร ทองเที่ยง อาจารย์ มจธ.(ราชบุรี) ได้นำเสนอบทความเรื่อง “พระจอมเกล้าศึกษา: เมืองเพชรบุรี” เพื่อสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญของการศึกษาภาคสนามในครั้งนี้

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิจาก ดร.อมรวิทชช์ นาครทรรพ ดร.ทศพร ทองเที่ยง อาจารย์ มจธ.(ราชบุรี) และคุณวิศวะ ชินโย นักวิชาการอิสระ ร่วมวิพากษ์ผลงานและให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด วิเคราะห์ ตีความ และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการอย่างเป็นระบบ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับรายวิชาเลือกเสรีของกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มจธ. ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น