
เมื่อวันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานคัดเลือกและสรรหานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดพิธีเปิดโครงการ 2B-KMUTT รุ่นที่ 19 Future Leader Camp ค่ายฝึกทักษะและสั่งสมประสบการณ์การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมจำรัส ฉายะพงศ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โดย นางกัญญกมล เขียวหวาน ผู้อำนวยการสำนักงานคัดเลือกและสรรหานักศึกษา ขึ้นกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน รองศาสตราจารย์ ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและผู้เรียนรู้ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการ 2B-KMUTT รุ่นที่ 19 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 มีนาคม – วันที่ 4 เมษายน 2568



จากนั้นเป็นการชี้แจงแนวทางปฏิบัติสำหรับการเข้าค่าย โดย นางสาวสุวะรักษ์ ศิริวรรณ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานคัดเลือกและสรรหานักศึกษา, การชี้แจงกฎระเบียบของค่าย โดย รุ่นพี่ 2B-KMUTT รุ่นที่ 18 นายชยกร พัชราวนิช ว่าที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ, การบรรยายในหัวข้อเรื่อง ”การกำหนดโจทย์งานวิจัย“ และ “วิศวกรรมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดย รุ่นพี่ 2B-KMUTT รุ่นที่ 3 รองศาสตราจารย์ ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “2B-KMUTT Change Agent For SDGs” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน






โครงการ 2B-KMUTT มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการให้นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำโครงงานวิจัย ได้สัมผัสการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และรู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนเข้าใจบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักออกแบบและนวัตกร และให้นักเรียนได้ฝึกทักษะและสั่งสมประสบการณ์การทำวิจัย การประดิษฐ์ การออกแบบ และนวัตกรรมในระหว่างปิดภาคเรียน โดยจะรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 5 และ นักเรียนระดับ ปวช. ชั้นปีที่ 1 – 2 และจะมีการคัดเลือกนักเรียนจากคณะกรรมการอ่านใบสมัครและการสัมภาษณ์มีอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาในการทำโครงงานวิจัยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์
ในปัจจุบันการจัดโครงการ 2B-KMUTT ได้ดำเนินการมา เป็นรุ่นที่ 19 โดยแบ่งตาม 10 กลุ่มวิจัย ตามความรู้และความสนใจ ได้แก่ 1. พลังงานแห่งอนาคต 2. วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 3. นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ 4. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5. มัลติมีเดียและการออกแบบ 6. คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ประยุกต์ 7. วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 8. นวัตกรรมวัสดุศาสตร์ 9. วิศวกรรมโยธาและการจัดการโลจิสติกส์ 10. วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์