
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ประจำปี พ.ศ. 2567 ประเภทส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทยทางพระพุทธศาสนา แด่ พระราชวชิรธรรมเมธี (อารยพงศ์ อารยธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2568
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พร้อมพงษ์ ปานดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัย ได้ถวายหนังสือ มจธ. กับบทบาทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมรดกทางวัฒนธรรม ที่ได้รวบรวมเนื้อหาของโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง มจธ. กับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 15 ปี ได้แก่
จุดเริ่มต้นผ้าป่า 3 พระจอมเกล้า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 คณะผู้แทนมหาวิทยาลัยโดยอาจารย์วิสุทธิ์ ดามาพงษ์ อาจารย์บันเทิง สุวรรณตระกูล อาจารย์ยุทธศักดิ์ รุ่งเรืองพลางกูร และคุณประพนธ์ เรืองวุฒิชนะพืช ได้เข้ากราบมนัสการเจ้าอาวาส เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะเข้ามาช่วยเหลือทำนุบำรุงวัด ซึ่งทางท่านเจ้าอาวาสก็แสดงความยินดีที่อยากเห็นมหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 แห่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงวัด และต่อมาหลังจากนั้นได้มีข้อสรุปที่จะจัดงานทอดผ้าป่า 3 พระจอมเกล้าขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมี มจธ. เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2553 เป็นครั้งแรก และเวียนกันเป็นเจ้าภาพในปีต่อไป ซึ่งจะนำเงินจากเงินสิทธิประโยชน์งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมาร่วมทอดผ้าป่า เป็นเงินประเดิม 300,000 บาทในแต่ละปี ต่อมาปี พ.ศ. 2559 ทางวัดได้มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ทั้ง มหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ทั้ง 3 แห่ง

ระฆังสามใบเถา หอระฆังยอดมงกุฎ สัญลักษณ์แห่งพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งมาจากอังกฤษในรัชสมัยของพระองค์ พ.ศ. 2404 เมื่อเวลาผ่านไป 156 ปี ก็ได้กลับมาดังก้องกังวาน ส่งสัญญาณอีกครั้งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 หลังจากที่คณะอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ประดิษฐ์ชุดควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการตีและกำหนดจังหวะการตีระฆัง ซึ่งข้าพเจ้าได้ร่วมฟื้นฟูขนมธรรมเนียมการตีระฆังฝรั่งของวัดราชประดิษฐฯ ด้วยเช่นกัน

พระปาสาณเจดีย์ พระวิหารหลวง อาคารประกอบ และฐานไพทีในเขตพุทธาวาส อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของวัดราชประดิษฐฯ เมื่อเวลาผ่านไป 160 ปี ประสบปัญหาความโน้มเอียงของโบราณสถานในจุดต่าง ๆ จึงก่อให้เกิดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ระยะยาว คือ การติดตามสภาพและประเมินอัตราความโน้มเอียงของพระปาสาณเจดีย์และพระวิหารหลวง ด้วยเทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์
โครงการความร่วมมือในอนาคตร่วมกับทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร มจธ. มีความตั้งใจที่จะศึกษาการซ่อมแซมรอยแตกร้าวบริเวณเจดีย์ ณ วัดปราสาท จังหวัดอยุธยา ด้วยไบโอซีเมนต์ นำโดย รศ. ดร.พรเกษม จงประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ รศ. ดร.วีรชาติ ตั้งจิรภัทร และ ผศ. ดร.ดุจเดือน วราโห อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อยู่ระหว่างเริ่มต้นหารือปี พ.ศ. 2567