คณะวิทยาศาสตร์จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork and Collaboration)”

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ทักษะการทำงานเป็นทีม (Teamwork and Collaboration)” ณ ห้อง SCi Connect ชั้น 1 อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ คณะวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของบุคลากรสายสนับสนุน ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ช่วยผู้บริหารอย่างมืออาชีพ และสามารถนำความรู้ไปพัฒนาการทำงานประจำในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กฤษเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบุคคล มจธ. และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มจธ. เป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้

เนื้อหาการอบรมมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมทำกิจกรรมกลุ่มที่ส่งเสริมการระดมสมองและฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม โดยอยู่บนฐานของ 4 คำสำคัญ (คือ คิดค้น คุณค่า คุ้นเคย และคลุมเครือ) ภายใต้แนวคิด Lifelong Learning เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรม ไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นวิทยากรยังได้เชื่อมโยงเนื้อหาจากการทำกิจกรรมกลุ่มไปยัง 6Cs Model ที่เป็นแนวคิดของ Powerful Team ซึ่งประกอบด้วย (1) Common Goals, (2) Contribution from others, (3) Cohesion, (4) Collaboration, (5) Commitment to support, และ (6) Coaching mindset และวิทยากรยังได้เน้นถึงวิธีการเพื่อทำให้องค์ประกอบของ 6Cs Model เกิดขึ้นได้ ซึ่งประกอบด้วย (1) การฝึกเขียนเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจน, (2) ความเข้าใจและการแสดงบทบาทของสมาชิกทีมในแต่ละประเภท, (3) การเรียนรู้กระบวนการหล่อหลอมจิตสำนึกความเป็นทีม, (4) การพึ่งพาการทำงานร่วมกันเป็นทีมในแบบต่างๆ, (5) การสนับสนุนกระบวนการทำงานของทีมในมิติต่างๆ, และ (6) การพัฒนาทักษะการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ผ่านการโค้ช และท้ายการอบรมวิทยากรได้บูรณาการเรื่อง Powerful Team เข้ากับลักษณะคน 4 ประเภทภายใต้แนวคิด DISC (Dominance, Influence, Steadiness, และ Conscientiousness) รวมถึงโปรไฟล์ทั้ง 17 ด้าน ภายใต้แนวคิดของ Predictive Index (PI) ซึ่งปัจจุบัน มจธ. นำมาใช้เพื่อเป้าหมายให้บุคลากรรู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนร่วมงาน และเพื่อปรับปรุงพัฒนาบุคลากรในการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

การอบรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุนของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นให้บุคลากรสามารถพัฒนางานประจำของตนเองให้เกิดความเป็นระบบ เกิดผลกระทบที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และสามารถถ่ายทอดและส่งต่อความรู้ เพื่อเสริมสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรในระยะยาว