The 19th APSSA International Conference จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17- 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ Stephen Riady Centre, University Town (National University of Singapore) สาธารณรัฐสิงคโปร์ APSSA International Conference เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่จัดโดยสมาคม Asia Pacific Student Services Association (APSSA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาและกิจการนักศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในงานกิจการนักศึกษา (Student Affairs) และส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เป็นการเพิ่มทักษะและความรู้ให้แก่บุคลากรที่ทำงานด้านกิจการนักศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรเข้าร่วมเป็นเครือข่ายทางวิชาการและวิชาชีพ




สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอผลงานในรูปแบบโปสเตอร์ ภายใต้ธีม Learning and development outside the classroom / informal spaces โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การนำเสนอผลงานโครงการ SoCHAMP4SoChangeการพัฒนาพื้นที่ภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 มิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยใช้โมเดล “บวร” เป็นกรอบการทำงาน มีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมเสนอผลงาน ได้แก่
นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานวัตกรรมบริการดิจิทัล
นางสาวรดา การัณยกรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขานวัตกรรมบริการดิจิทัล
นางสาวเอมสิณี ดำรงจริยาสีห์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
2. การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสื่อออนไลน์ “นาฏยลีลาเพื่อสุขภาพ” กิจกรรมเชิงนวัตกรรมที่ผสมผสานท่าทางนาฏศิลป์ไทยเข้ากับท่าทางออกกำลังกายสมัยใหม่ มีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมเสนอผลงาน ได้แก่
นางสาวธัญชนก เพ็ญจำรัส นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์
นางสาวภรณ์วรัตน์ สุวิชาชนันทร์ นักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE และกลุ่มนักศึกษาชมรมนาฏยโขนละคร สร้างชื่อเสียงในเวทีนานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากทุนการศึกษาเจียระไนเพชร และงบประมาณกิจกรรมตามแผนกลยุทธ์ในหมวด Reaching Sustainable Development Goals
นอกจากนักศึกษา มจธ. ทั้งสองทีมที่ได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานภายในงานดังกล่าวแล้ว ในโอกาสนี้บุคลากรของ มจธ. ประกอบด้วย สำนักงานกิจการนักศึกษา กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานภาค Oral Presentation ภายใต้ธีม Transiting into and Navigating through University towards Student Success โดยมีรายละเอียดดังนี้
- Enhancing First-Year Experience: KMUTT’s Approach to Student Retention and Engagement โดยสำนักงานกิจการนักศึกษา
- The Role of the Petchra Pra Jom Klao Ph.D. Research Scholarship in Enhancing Research Output and Holistic Student Development โดยกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา
- Strategic Transformation: Fostering Student Success through Entrepreneurship and Sustainability at KMUTT โดยกลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา
- Change Agent with Green Heart at KMUTT Thailand โดยศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH)
ความสำเร็จของนักศึกษาและบุคลากร มจธ. ในงาน The 19th APSSA International Conference ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนากิจกรรมเพื่อการพัฒนานักศึกษา อีกทั้งยังตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อสร้างผู้นำที่พร้อมรับมือกับความท้าทายและผลักดันสังคมไปสู่ความยั่งยืน
KMUTT จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรในทุกมิติ เพื่อขยายขอบเขตของการเรียนรู้และสร้างผลกระทบเชิงบวกในเวทีโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป


นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย ประธานกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE ได้กล่าวว่า “ในนามของกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE เราขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งต่อทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้การต่อยอดผลงานครั้งนี้เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น ทุนการศึกษาเจียระไนเพชรที่สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย สำนักงานกิจการนักศึกษาที่สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของพวกเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามแนวพระราชดำริ มจธ. ที่มอบโอกาสให้พวกเราในการพัฒนาศักยภาพ การดำเนินโครงการและสนับสนุนผลักดันพวกเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
การเข้าร่วมงาน 19th APSSA International Conference ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าทุกประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นเหมือนจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นเส้นทางของการพัฒนา และช่วยเปิดโลกทัศน์ในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในบริบทที่ต่างจากเดิม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการต่อยอดแนวคิดสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายพิพัฒพงศ์ ชูช่วย ประธานกลุ่มนักศึกษา SoCHANGE



นางสาวธัญชนก เพ็ญจำรัส นักศึกษาทุนเพชรพระจอมเกล้า ด้านศิลปวัฒนธรรม และประธานชมรมนาฏยโขนละคร กล่าวว่า “การเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ทั้งในด้านการนำเสนอผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ และการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะนอกชั้นเรียน นอกจากนั้นแล้วยังถือเป็นโอกาสในการฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีม และการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมที่ช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับโครงการของเรา อีกหนึ่งความประทับใจคือการได้รับรู้ถึงความสำคัญของ Soft Power ผ่านการนำเสนอนาฏศิลป์ไทยในรูปแบบที่ทันสมัยและสามารถปรับใช้เป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ โดยผู้เข้าเยี่ยมชมผลงานต่างมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายผลการวิจัยนี้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ขอบคุณทุนเจียระไนเพชรที่เป็นแรงสนับสนุนในการพัฒนานักศึกษาสู่ความเป็นเลิศในเวทีนานาชาติ
ชมรมนาฏยโขนละครขอขอบคุณ ทุนการศึกษาเจียระไนเพชรที่ให้การสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานครั้งนี้ รวมถึงขอขอบคุณ สำนักงานกิจการนักศึกษาที่ให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพตนเองและนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในเวทีนานาชาติ”
คุณนัยรัตน์ วงษ์เวทย์และ คุณปิยฉัตร ปัญญาภูมิสถิตย์ ได้กล่าวว่า การได้รับโอกาสในครั้งนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองในหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนาทักษะการเขียนเชิงวิชาการ ทักษะการนำเสนอ การสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งทักษะทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มสมรรถนะของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต มากไปกว่านั้นการได้รับโอกาสในครั้งนี้ทำให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้และมุมมองด้านการพัฒนานักศึกษาที่มีหลากหลายรูปแบบการทำงาน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต นอกจากนี้การศึกษาดูงานในครั้งนี้ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมระบบการจัดการต่าง ๆ ภายใน National University of Singapore อาทิ ระบบการจัดการขยะ การจัดการน้ำ พลังงาน การจัดการพื้นที่สีเขียวและอื่น ๆ ทั้งยังมีติดต่อประสานกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการการสร้างนักศึกษาและผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสังคมประเทศ และได้เห็นวัฒนธรรมการศึกษา การดำรงชีวิตของคนในสังคมประเทศสิงคโปร์ รวมถึงการได้พบปะเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆที่ทำงานเพื่อนักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดวิธีการในการจัดกิจกรรมด้านความยั่งยืนให้กับนักศึกษาและบุคลากร การสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยรอบมหาวิทยาลัย ในนามของศูนย์ EESH ขอขอบคุณคณะดำเนินงานทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนานักศึกษาจนทำให้ได้รับโอกาสดังกล่าวนี้ และขอขอบคุณผู้ใหญ่ เพื่อน พี่และน้องนักศึกษา Change Agent with Green Heart ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีในครั้งนี้ ขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานักศึกษา


คุณพัฒชยานันต์ ทรัพย์รวีกร บุคลากรจาก สำนักงานกิจการนักศึกษา กล่าวว่า “การเข้าร่วมงานครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้นำผลงานของสำนักงานกิจการนักศึกษาเข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยด้านกิจการนักศึกษาของสถาบันอื่น ๆ เป็นการเปิดประสบการณ์เรียนรู้และซึ่งกันและกันในด้านการให้บริการและการพัฒนานักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการสร้างส่งเสริม และสนับสนุนประสบการณ์ของผู้เรียนในปีแรก อันเป็นจุดเริ่มในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและนำไปสู่ความสำเร็จของผู้เรียน
นอกเหนือจากการร่วมเป็นผู้แทนของหน่วยงานไปนำเสนอผลงานแล้ว ในมุมของการการพัฒนาตนเองก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก สิ่งแรกคือเรื่อง Mindset ในเรื่องเปิดใจ เข้าใจ และเรียนรู้จากผู้อื่น ๆ เพราะทุกคนต่างมาเพื่อนเรียนรู้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกัน ต่อมาเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะการสื่อสารไม่เพียงแค่ภาษาที่ช่วยให้เราเข้าถึงเรื่งราวต่าง ๆ ได้ แต่ยังมีในส่วนของการรูปแบบและวิธีการสื่อสารของไปทั้งภาษาพูดและภาษากาย ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในเวทีระดับสากล สุดท้ายเป็นเรื่อง สุดท้ายคือการสร้าง Connection ที่อาจทำให้กลายเป็นโอกาสอื่น ๆ อันดีต่อมาไม่ว่างจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม สุดท้ายนี้ขอขอบคุณบุคลากรจากสำนักงานกิจการนักศึกษาที่ร่วมกันพัฒนางานนี้ รวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ร่วมร่วมเดินทางทุกท่าน ที่ทำให้ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองร่วมกัน



