มจธ. ลงพื้นที่ติดตั้งแผ่นไบโอซีเมนต์เพื่อทดสอบการหน่วงน้ำในแปลงนาที่ประสบปัญหาดินเค็ม ณ สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง) ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย ผศ. ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี ผศ. ดร.ศิววรรณ พูลพันธุ์ กลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ และ ผศ. วราลักษณ์ แผ่นสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมทั้ง ผศ. ดร.ภริณดา ทยานุกูล มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์ผลงานไบโอซีเมนต์ “ปูนซีเมนต์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในฐานวัสดุซีเมนต์ ที่ Material ConneXion ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลงานไบโอซีเมนต์ได้พัฒนาต่อยอดจากผลงานมอร์ตาร์แข็งแกร่งที่ใช้จุลินทรีย์จากกากน้ำปลา ที่ได้จดสิทธิบัตรเลขที่คำขอ 2101006885 เป็นผลงานไบโอซีเมนต์ร่วมกับจีโอโพลิเมอร์ ในสิทธิบัตรเลขที่คำขอ 2401003834

คณะผู้วิจัยได้ร่วมกับสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ขยายผล ไบโอซีเมนต์ สู่การใช้งานในพื้นที่นาที่ประสบปัญหาดินเค็ม หรือน้ำกร่อย คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อติดตั้งแผ่นไบโอซีเมนต์ และติดตั้งถัง Lysimeter พร้อมทั้งฝังก้อนไบโอซีเมนต์ลงในถัง Lysimeter ในพื้นที่แปลงนา ที่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง) ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาและทดสอบการหน่วงน้ำในแปลงนา ในระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567

แผ่นไบโอซีเมนต์ที่นำมาติดตั้งในพื้นที่แปลงนานี้ ผลิตจากจุลินทรีย์ที่คัดแยกมาจากกากน้ำปลา โดยคัดแยกสายพันธุ์ที่สร้างตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตได้ดี และไม่ก่อโรค ส่วนผสมของวัสดุประสาน ประกอบด้วย เปลือกไข่ กากแคลเซียมคาร์ไบด์ และทรายทะเล ผสมวัสดุประสานกับสารละลายจุลินทรีย์ จะได้ซีเมนต์เพลสท์ที่พร้อมจะเทลงในแม่พิมพ์ ซีเมนต์เพลสท์จะก่อตัวภายใน 2 ชั่วโมง คุณสมบัติของเนื้อปูนจะแตกต่างกันตามสภาวะแวดล้อม วัสดุนี้ทนทานต่อการกัดกร่อนของเกลือ และสามารถซ่อมแซมตนเองได้ เมื่อเกิดรอยแตกขนาดจิ๋ว จุลินทรีย์จะสร้างผลึกสีขาวของแคลเซียมคาร์บอเนต การศึกษาวิจัยดังกล่าวภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางการหน่วงน้ำในนาข้าวของพื้นที่ชลประทานด้วยการประยุกต์ใช้ไบโอซีเมนต์” เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเค็มของดินในนาข้าว และการบริหารจัดการน้ำในแปลงนาที่ประสบปัญหาดินเค็ม

โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ได้มีประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ผศ. ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี กลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ร่วมกับ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือจากอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์ และขยายผลการใช้ไบโอซีเมนต์เพื่อหน่วงน้ำในแปลงนาในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม และน้ำกร่อย ต่อไป