มจธ. จับมือ กรุงเทพธนาคม ศึกษาวิจัยระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าและเครื่องยนต์เรือไฟฟ้าโดยสารในคลองผดุงกรุงเกษม

KMUTT and The Krungthep Thanakom Co., Ltd. conducted a study on the power storage systems and engines of the electrical ferry service along Klong Phadung Krung Kasem.

Date: April 25, 2023

Venue: X01 Room, 10th Floor of KX Building

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผศ. ดร.ประแสง มงคงศิริ กรรมการผู้อำนวยการ และ ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย การศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าโดยมี รศ. ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. และ นายอำนาจ คงไทย รองกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มระบบขนส่งมวลชน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นพยานในการลงนาม ทั้งนี้ รศ. ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวต้อนรับ และรายงาน และ ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ กล่าวความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการให้บริการเดินเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม โดยได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยมีเรือไฟฟ้าเพื่อให้บริการทั้งหมด 8 ลำ 11 ท่าเรือ ซึ่งการนำเรือไฟฟ้ามาให้บริการนั้นสามารถช่วยลดมลภาวะให้กับกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี ทั้งมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางเสียง รวมถึงความรู้สึกสะดวกสบายของผู้โดยสาร ชุมชนและผู้อยู่อาศัยริมคลองผดุงกรุงเกษม แต่ช่วงปี 2565 กรุงเทพมหานครได้มีการทบทวนโครงการจึงได้หยุดเดินเรือชั่วคราวไประยะหนึ่ง จนขณะนี้มีนโยบายที่จะให้กลับมาให้บริการเดินเรืออีกครั้ง แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า จำเป็นต้องซ่อมแซมชุดต้นกำลังซึ่งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า และเปลี่ยนแบตเตอรี่ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานของเรือไฟฟ้า และเพื่อให้การลงทุนเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่ทดแทนนั้นมีความคุ้มค่าทั้งด้านมูลค่าและสมรรถนะของเรือ และมั่นใจได้ว่าจะมีวิธีการ และมีแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิบัติการกับเรือไฟฟ้าให้ได้ประสิทธิภาพและสมรรถนะ โดยเฉพาะกับระบบขับเคลื่อนและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าของเรือ รวมทั้งเพื่อหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการเดินเรือ เพื่อความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป การศึกษาวิจัยทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็น เพื่อให้มีวิธีการที่เหมาะสมในการใช้งาน การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงเรือไฟฟ้า โดย คณะนักวิจัยจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ทำหน้าที่ร่วมในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า โดยเน้นไปที่ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) และรวมถึงข้อมูลทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินเรือ แนวทางในการใช้งานและการดูแลรักษาหรือซ่อมบำรุงเรือและแบตเตอรี่ที่เหมาะสม และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการดูแลรักษาและการเดินเรือให้สอดคล้องกับคุณลักษณะเฉพาะบางประการของเรือพลังงานไฟฟ้า