มจธ. จับมือ ไอ มอเตอร์ ร่วมวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 7 อาคารเคเอกซ์ ถนนกรุงธนบุรี ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (i-Motor) โดย รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. และ คุณปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วย รศ .เอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) คุณอลัน ลิม ประธานหอการค้าสิงคโปร์-ไทย และบุคลากรของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานได้หารือร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ต่อยอดการออกแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การอัดประจุไฟฟ้า การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีความประหยัด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรจากทั้ง 2 หน่วยงาน โดยบุคลากรของบริษัทสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิศวกรรมที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดจาก โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ทุนวิจัยร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ร่วมกับทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อวิจัยและพัฒนา แพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ  ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้

โดยคุณปรีชา ประเสริฐถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือวันนี้ ทาง I-Motor มีความยินดีอย่างยิ่งที่ มจธ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้ร่วมพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทาง I-Motor จะนำชุดเฟรมของ Vapor ที่ผ่านการทดสอบมาตราฐาน UNR 136 มาทำทดสอบเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ หลังทดสอบและได้รถที่คุณภาพสูงแล้ว จะทดสอบจริงที่ มจธ. บางขุนเทียน พร้อมกับระบบ swap battery ที่ใช้มาตรฐาน สวทช.

ด้าน รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวแสดงความยินดีในความร่วมมือที่เกิดจากการหารือของทั้งสองหน่วยงาน และยังจะเป็นโอกาสให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบและพัฒนา รวมถึงข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลงานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน