มจธ. กับการจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงและเน้นสมรรถะผู้เรียน เริ่มใช้ OBEM สร้างบัณฑิตรู้จริง-ทำได้ เพื่อก้าวสู่ Micro-Credential แห่งแรกของไทย

โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ตลาดแรงงานที่ต้องการคนทำงานที่พัฒนาทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ รวมถึงตลาดงานแบบใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับทักษะใหม่  อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่กระจายไปทั่วโลก ยิ่งเป็นตัวเร่งให้การเกิด Disruption ในด้านต่าง ๆ นั้น เกิดขึ้นและส่งผลกระทบชัดเจนเร็วกว่าเดิม  สถาบันการศึกษาจึงเกิดโจทย์สำคัญที่เป็นความท้าทาย การจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ต้องเร่งปรับตัว และแสวงหารูปแบบและวิธีการในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อผู้เรียน และความต้องการของสังคมวิถีใหม่ให้มากที่สุด

มจธ. เลือกจัดการศึกษาแบบ Micro-Credentials
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เลือกจัดการศึกษาแบบ Micro- Credentials ที่เป็นการจัดการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงที่เน้นความสามารถผู้เรียนเป็นตัวตั้ง มีความยืดหยุ่นสูง และไม่จำกัดวัยผู้เรียน  ที่ปัจจุบันเป็นการจัดการศึกษาที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา  โดย มจธ. เริ่มนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนเมื่อต้นปี การศึกษา 2564 ที่ผ่านมา โดยเน้นไปในเรื่อง Science and Technology  ซึ่ง มจธ. จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนรูปแบบ KMUTT Micro-Credentials โดยได้ร่วมกับ ดิจิทัล พรอมิส (Digital Promise) ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบ Micro-Credentials จากสหรัฐอเมริกา มาทำงานร่วมกันในการวางกรอบมาตรฐานสำหรับการออกแบบ และจัดทำ Micro-Credentials เพื่อเป็นการนำร่องและวางแนวทางและเตรียมรองรับระบบการศึกษารูปแบบใหม่สำหรับผู้เรียนในทุกช่วงวัย นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ทาง มจธ. ได้ศึกษารูปแบบ Micro-Credentials ของประเทศนิวซีแลนด์ ที่กำหนด Micro-Credentials เป็นนโยบายของประเทศ เพื่อจะตอบสนองต่อคนในหลายกลุ่มอาชีพ ที่ต้องการการรับรองความสามารถสู่ปริญญาหรือต้องการจะพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพหรือสร้างทักษะใหม่อีกด้วย

หลักสูตรที่เกี่ยวกับ Science and Technology จะเป็น Micro-Credentials แรกของ มจธ. เพราะด้วยความพร้อมของ มจธ. ที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายคณะได้มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้มีความหลากหลาย รวมถึง Science and Technology เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากกระแส Disruption ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบการศึกษารูปแบบใหม่ที่จะสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งงานด้าน Science and Technology เป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน

มจธ. เริ่มต้นจัดการศึกษาแบบเน้นสมรรถนะผู้เรียน OBEM กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์
            ต้นปีการศึกษา 2564 มจธ. เริ่มใช้รูปแบบ Object Base Education Module หรือ OBEM ที่เป็นการออกแบบการจัดการศึกษาแบบ Modular Base ในกลุ่มรายวิชาวิทยาศาสตร์ 11 รายวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ฯลฯ โดยรูปแบบ OBEM นี้แบ่งการเรียนรู้เป็นเรื่อง ๆ เหมือนชิ้นส่วนของเลโก้ (Lego) ที่สามารถนำมาต่อกันได้ การเรียนรู้ที่เหมือนเลโก้หนึ่งชิ้นนี้จะถูกออกแบบให้จบในตัวเอง จะมีเป้าหมายของการเรียนรู้ การวัดผลการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาอยู่ในเลโก้หนึ่งชิ้นนี้  ถ้าผู้เรียน “ทำได้” ก็จะมีความสามารถพอที่จะนำการเรียนรู้ไปใช้และมีประโยชน์กับชีวิตของผู้เรียนทั้งในเชิงการนำไปทำงานหรือในเชิงการสร้างความสามารถพื้นฐานเพื่อที่จะไปเรียนรู้เลโก้ชิ้นต่อ ๆ ไปได้ และยิ่งผู้เรียนมีเลโก้หลาย ๆ ชิ้นที่นำมาต่อกัน ความสามารถของพวกเขาก็จะยิ่งเข้มข้น มีประโยชน์และสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นต่อไป  การพัฒนาผู้เรียนตามความสามารถหรือการทำได้-ทำเป็นนี้ ถือเป็นการออกแบบวิธีการวัดความสามารถผ่าน Micro-Credentials ซึ่งเหมาะกับความสามารถที่เฉพาะเจาะจงโดยแสดงออกให้เห็นได้ผ่านหลักฐานในงานหรือการแก้ปัญหาจริง โดยไม่ยึดติดกับเวลาที่ต้องจัดการศึกษาเป็นเทอม ๆ แล้วต้องมาสอบพร้อมกันอีกต่อไป

            ผศ.ดร.วันเพ็ญ ช้อนแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปและการจัดการศึกษาแบบ OBEM ว่าเป็นแนวคิดที่ทางคณะต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของคณะอยู่แล้ว ก็พยายามศึกษาหาวิธีการต่าง ๆ ซึ่งมาตรงกับที่มหาวิทยาลัยได้วางแนวคิดการทำ Micro-Credentials พอดี จึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมออกแบบจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น  และนำไอเดียต่าง ๆ มาเป็นการบ้านทำงานร่วมกับบุคลากรของคณะ โดยได้ศึกษารูปแบบจากต่างประเทศ นำปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเดิม และจัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาและทำความเข้าใจกับแต่ละภาควิชาจนได้รูปแบบ OBEM นำไปคุยกับแต่ละหลักสูตรในคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามความต้องการ แล้วนำกลับมาพัฒนา Module ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ มคอ. และเป็นไปตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพทั้ง กว. และ TQF. ซึ่งการทำงานจะมีโครงสร้างการจัดการ OBEM ของคณะ มีคณะกรรมการ มี Team Teaching สามารถทำงานกันเป็นระบบ และเริ่มเปิดสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของทุกหลักสูตรในรายวิชาด้านวิทยาศาสตร์ 11 รายวิชาได้ในเทอม 1 ปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ปริญญา เสงี่ยมสุนทร อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  เล่าเสริมต่อว่าในการทำ OBEM อาจารย์ผู้สอนต้องเข้ามามีส่วนร่วมมีบทบาทในการออกแบบ แนวคิดหลักๆ อาจารย์ต้องเป็นประโยชน์ของการทำ OBEM ข้อดีที่ได้กับผู้เรียน  การแบ่งรายวิชาออกเป็น Module จะเป็นไปตาม Key Concept ของในแต่ละรายวิชา อาจมี Module มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริบทของวิชานั้น ๆ ถ้ามีการจัดโครงสร้างการทำงานและได้รับการสนับสนุนที่ดี ก็จะสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบ OBEM ได้ดีและเกิดประโยชน์จริง  ที่คณะวิทยาศาสตร์ก็ยังมีการเก็บข้อมูลและผลลัพธ์ต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาปรับปรุงและพัฒนากันต่อไป ซึ่งช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ แน่นอนว่าอาจารย์ต้องเหนื่อยขึ้น ทำงานมากขึ้น นักศึกษาเองก็ต้องปรับตัวและมีภาระโหลดมากขึ้น แต่ถ้ากระบวนการปรับเปลี่ยนเริ่มอยู่ตัว ก็จะดีขึ้นในระยะยาว

อาจารย์ทั้งสองท่านยังมองว่า ยังต้องมีอีกหลายส่วนที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย เช่น ศูนย์สอบกลางที่จะมาช่วยบริหารจัดการการจัดสอบที่ปัจจุบันยังเป็นปัญหาสำหรับนักศึกษา  และถ้าผ่านช่วงปัญหาการระบาดของโควิด นักศึกษาสามารถเข้ามาในมหาวิทยาลัยได้ หลายๆ อย่างน่าจะดีขึ้น  การจัดการในรายวิชาเฉพาะน่าจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะนักศึกษามีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งบริบทจะแตกต่างจากรายวิชาพื้นฐาน และถ้าอาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันกระจายการทำงานไป การปรับเปลี่ยนก็จะเห็นผลลัพธ์ในเชิงบวกมากขึ้น  ดั้งนั้นการบริหารจัดการจึงสำคัญมาก

มุมมองคนทำงานที่คอยสนับสนุน OBEM อย่างนักพัฒนาการศึกษา และผู้ช่วยสอน (TA.)

            ด้านพินิจ รังสิยากร  นักพัฒนาการศึกษา ประจำคณะวิทยาศาสตร์ที่คลุกคลีอยู่กับการออกแบบการจัดการศึกษาแบบ OBEM ของคณะวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ต้น ให้ข้อมูลว่าหน้าที่หลักจะเป็นงานสนับสนุนและประสานงานทั้งหมดในการทำ OBEM การจัดให้เกิดการมีส่วนร่วมของ Stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ต้องการที่จะให้อาจารย์ได้แชร์ในส่วนของไอเดียที่อาจารย์ได้ไปทดลองทำมาแล้วเราก็พยายามที่จะนำข้อมูลไปสานต่อ  หลังจากที่มีการเปิดสอนแล้ว กระบวนการที่ช่วยเหลืออาจารย์ตอนช่วงแรก ๆ ที่จัดสอนก็คือ กระบวนการเรียนรู้ ที่แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือกระบวนการเรียนการสอน กับกระบวนการการวัดและประเมินผล ช่วยทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนมันมุ่งไปสู่ Out Come Base ให้ได้มากที่สุด ช่วยอาจารย์ผลักดันการสอนให้มีกิจกรรมมากขึ้น การทำ Refection และการทำแบบสอบถามให้กับแต่ละโมดูล จัดการระดมสมองทุกเดือนเพื่อดูว่าปัญหาไหนมันมันเกิดขึ้นแล้วเรา support ได้หรือไม่ อย่างไร  ซึ่งปัจจุบันต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มีระบบต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น ระบบ AVATAR ในการบันทึกคะแนนและผลการเรียนรู้  การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ New ACIS  การจัดสรรงบสนับสนุนในการจ้างผู้ช่วยสอน หรือ TA. เข้ามาช่วยงานอาจารย์ผู้สอน OBEM เป็นต้น 

            อาภัสรา สื่อเฉย นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ในฐานะอาจารย์ผู้ช่วยสอน (TA.) ประจำวิชา MTH201 Mathematics III ได้เล่าแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเป็น TA. ในการสอนรูปแบบ OBEM ให้ฟังว่ามีอาจารย์ชักชวนให้เข้ามาทำหน้าที่ TA. พบว่าบทบาทหน้าที่ของ TA. ก็เปลี่ยนไปโดยเฉพาะในช่วงที่เป็นการเรียนออนไลน์ ที่ต้องใช้เครื่องมือช่วยในการสื่อสารมากขึ้น นอกจากการสอน การติวเพิ่มให้กับนักศึกษา พบว่ากับรูปแบบ OBEM นักศึกษามีความคาดหวังมากขึ้นต่อการช่วยสอนของเรา ที่จะช่วยให้เขาเรียนรู้และผ่านในรายวิชาที่เรียนได้มากขึ้น ซึ่งตัว TA. เองก็ต้องปรับตัวกับรูปแบบการเรียนรู้ ทำงานหนักขึ้นทั้งด้านวิชาการและวิธีการในการเข้าถึงและสื่อสารกับนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ด้วย และยังพบว่าศักยภาพของนักศึกษาแต่ละคนก็ต่างกันในการเรียนรู้ และในช่วงที่ต้องเรียนผ่านออนไลน์ความพร้อมของเครื่องมือในการเรียน เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ก็เป็นปัญหาสำหรับนักศึกษาบางคนที่ยังไม่ได้มีความพร้อมเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการศึกษาในแบบ ​OBEM  ที่ต้องใช้การเรียนออนไลน์ในช่วงเวลานี้เช่นกัน

ประสบการณ์จากนักศึกษากับการเรียนแบบ OBEM

เสียงสะท้อนจากฝั่งนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้ในแบบ OBEM อย่าง คณิศร ลีลาโศภิน นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็มีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ฝากเอาไว้ให้มหาวิทยาลัยนำกลับไปทบทวนและแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น  โดยสะท้อนว่าการเรียนแบบ OBEM ก็มีทั้งข้อดีและสิ่งที่ยังต้องปรับแก้ไขกันต่อไป แต่ยังไงโลกมันเปลี่ยน สถานการณ์มันเปลี่ยน  การศึกษาก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี   อย่างการสอบที่มีการแบ่งสอบถี่ขึ้นไปทีละโมดูล มันทำให้สามารถโฟกัสการเรียนไปทีละเรื่องที่ละจุดได้ ก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น แต่ข้อเสียก็คือเรื่องเวลา ที่ต้องใช้วันเสาร์อาทิตย์ในการสอบบ้าง เพื่อไม่ให้ตรงกับวิชาเรียนอื่นที่ยังสอนในแบบเดิมอยู่  และปัญหาช่วงนี้ที่ต้องเรียนออนไลน์ นักศึกษาปี1 แทบจะยังไม่ได้เจอหน้าเพื่อน ๆ เลย ไม่มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน มันทำให้ขาดอะไรบางอย่างไปอย่างพวกปฏิสัมพันธ์หรือคอนเนคชันที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียน และการทำงานในอนาคต และการต้องเรียนอยู่กับบ้านก็เป็นอุปสรรคคือมีสิ่งรบกวนสมาธิในการเรียนง่าย เหล่านี้จึงเป็นข้อจำกัดที่ทับซ้อนกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเรียนแบบ OBEM พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามการที่มหาวิทยาลัยมีเครื่องมือและเทคโนโลยี หรือพี่ๆ ทีมผู้ช่วยสอนมาคอยสนับสนุนและให้การช่วยเหลือระหว่างเรียน ก็ช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ได้บ้าง คิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักพักให้ระบบและรูปแบบมันเข้าที่เข้าทาง และการปรับตัวของนักศึกษามีมากขึ้นก็น่าจะดีขึ้น  ช่วงนี้จึงอยากให้มหาวิทยาลัยรับฟังเสียงสะท้อนจากนักศึกษาแล้วนำไปพัฒนาให้ดีขึ้น ในขณะที่นักศึกษาเองก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย