มจธ. เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สู่เป้าหมายการเดินทางแบบไร้มลพิษ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีนโยบายอย่างชัดเจนและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน (Sustainable University) โดยมีนโยบายส่งเสริมการเดินทางแบบไร้มลพิษ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิของ มจธ. ภายในปี ค.ศ. 2040 (KMUTT Carbon Neutrality 2040) ที่จะส่งเสริมให้บุคลากรเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมการแบ่งปันและการใช้รถยนต์ร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังสามารถใช้มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ (Test Bed) และแหล่งเรียนรู้และวิจัยในวิถีชีวิต (Living Lab) ในเรื่องการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. พร้อมด้วย อาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ และ รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน เข้าเยี่ยมชมสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบแชร์ริ่ง (EV sharing) โดยคุณปรีชา อาการศ สำนักบริหารอาคารและสถานที่ นำเยี่ยมชม และคุณกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ CEO และ Co-founders บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด แนะนำขั้นตอนการใช้บริการ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้บริการสำหรับบุคลากร และนักศึกษา โดยการสมัครใช้บริการและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน HAUP ซึ่งบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด เป็นบริษัท Startup ด้าน Mobility Sharing แรกของประเทศไทยและทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ. ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิด DC ขนาด 25 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถอัดประจุไฟฟ้าผ่านหัวจ่ายประเภท CCS2 และ CHAdeMO ภายในสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเดียวกัน ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้การศึกษาโครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ” ที่ดำเนินการร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีแผนภายหลังสิ้นสุดโครงการวิจัยที่จะส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการการอัดประจุสาธารณะต่อไป