เราจบบางมดเราได้เรียนรู้ทุกอย่าง ทำให้ไม่กลัว มั่นใจตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเราออกไปทำงาน เราสามารถทำได้ทำทุกอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพสูง….. คุณสุวิทย์ ไตรโชค

แนะนำตัว “รุ่นพี่”

สวัสดีครับ พี่ชื่อ “สุวิทย์ ไตรโชค” เป็นนักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า รุ่นที่ 20 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จบมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ปัจจุบันเป็นเกษตรกรปลูกพืชหลายชนิด พืชหลักจะเป็นเมล่อนซึ่งทำมา 30 กว่าปี ขายในแบรนด์ “นาวิต้า” ซึ่งย่อมาจาก “Natural Vitamin”  ซึ่งก่อนจะมาเป็นเกษตรกร ผมได้เริ่มทำงานในตำแหน่ง Service Engineer ที่บริษัทไฟฟ้า “ฟิลิปส์” ตั้งแต่เรียนจบ” พอทำงานได้ 1 ปี ก็ลาออกมาสอบเข้าที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทำงานเป็น Instrumentation Engineer ทำได้ครึ่งปีก็มา สอบเข้าที่ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” ในตำแหน่ง Point Simulation Engineer ซ่อมเครื่องฝึกบินจำลองสำหรับนักบิน เครื่องนี้เปรียบเสมือนกับเครื่องบินจริง มีระบบ Visual (ระบบภาพ) และระบบMotion (ระบบจำลองการลอยในอากาศ) ผมทำงานอยู่ที่การบินไทยประมาณ 19 ปีกว่าก็ขอ Early Retire ออกมาตอนปี พ.ศ. 2548 ตอนนั้นอายุ 46 ปี ก็เริ่มมาทำเกษตร เป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรม เกษตรกรรม บวกกับภูมิปัญญาของพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาใช้

ความทรงจำสมัยเรียนที่ “บางมด”

สมัยเรียนที่บางมด สิ่งที่ประทับใจคือ อาจารย์ที่สอนเราสมัยนั้น เป็นอาจารย์ที่เก่งมากทั้งทีมเลย ไม่ว่าจะเป็นคณบดี รศ. ดร.หริส สูตะบุตร หัวหน้าภาค ตั้งแต่ ศ. ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นยอดฝีมือไม่ใช่แค่ระดับประเทศแต่เป็นระดับโลก เราเลยได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งมาก โดยเฉพาะอาจารย์สวัสดิ์อาจารย์จะชอบบ่นมากเลยว่า ทำไมนักศึกษาพวกนี้แย่อย่างนี้ สอนอะไรไม่รู้เรื่องเลย ตอนนั้นอาจารย์สอนเกี่ยวกับเรื่อง Basic ไฟฟ้า เรียน Basic Electrical ตอนนั้นท่านเขียนโจทย์และคำตอบลงบนกระดานแล้วผิด อาจารย์จะเป็นคนที่ไม่เคยผิดเลย ผมเห็นแล้วที่เขียนผิดก็เลยบอกอาจารย์ว่ามันผิด อาจารย์เลยถอยห่างจากกระดานประมาณสัก 3 เมตร แล้วมองไปที่กระดานสักพักท่านก็แก้โจทย์ให้มันถูกตามคำตอบที่เขียนผิด โดยที่ไม่ทดเลยนะใช้ทดในสมองเลย นั่นก็คือความประทับใจหนึ่ง

ความภาคภูมิใจในฐานะ “เด็กบางมด”

เอกลักษณ์ของบางมดคือ เราจบบางมดเราได้เรียนรู้ทุกอย่างทำให้ไม่กลัว มั่นใจตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเราออกไปทำงานเราสามารถทำได้ทำทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพสูงผมไปอยู่การบินไทย ต้องไปเรียนรู้แค่เรื่องเครื่องบินใช้เวลาไม่นาน เพราะเราสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เรารู้แล้ว มันเลยเป็นเรื่ิองง่าย

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก บางมด มาใช้ในการทำงานอย่างไร 

เราจบบางมดมา เรามีพื้นฐานวิศวกรรมหลายอย่างตอนนั้นบางมดให้เราเรียนทุกอย่าง ตอนที่เรียนก็ไม่อยากเรียนเท่าไหร่ เราอยากจบเร็วๆ อยากได้เงินเร็วๆเพราะเราเป็นชาวนาไม่ค่อยมีเงิน แต่ตอนนั้นท่าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร บอกว่าไม่ได้ บางมดเรามีมาตรฐานสูงต้องเรียน 5 ปี จบเร็วไม่ได้ ผมก็เลยลงทะเบียนเรียนเยอะไปหมดลง Summer เพิ่ม ผมเลยได้ กว. 2 ใบ ทั้ง Telecom และ Power พอไปทำงานการบินไทยก็ได้ใช้ความรู้เรื่อง Power ตอนนั้นในแผนกมีผมคนเดียว ซึ่งเรียน Power มา ผมเลยได้ทำเรื่องมอเตอร์วงจรไฟฟ้า Stop Motion แล้วเรายังรู้เรื่องเมคคานิกส์อีกเลยได้เอามาใช้ในเรื่องระบบน้ำในการเกษตร ทำให้เราคำนวณได้ละเอียด มีประสิทธิภาพสูง เราเลยรู้ว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำกี่ลิตรต่อต้นต่อวัน ซึ่งเวลาคำนวณออกมาแล้ว มันจะตรงตามมาตรฐานโลก ก็คือการให้น้ำกับพืชจะต้องต่างกันไม่เกิน 10% เราสามารถทำได้หมดเลย เพราะทำให้เรามีความรู้กว้าง และลึก

การนำแนวคิดการทำประโยชน์ต่อสังคมให้เกิดความยั่งยืนมาพัฒนา

ผมสอนเกษตรกรมาพันกว่ารายแล้ว ก็มีไปเป็นวิทยากรบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยราชการ หรือตามบริษัทเอกชน เราสอนเทคโนโลยีแปลงเกษตร ให้เกษตรกรไปพัฒนาการเกษตรจากคนที่ไม่เคยเป็นเกษตรก็อยากมาเป็นเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer มันช่วยแก้ปัญหาเรื่อง ความยากจน ความเหลื่อมล้ำกับดักรายได้ปานกลางของประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในไม่เกิน 20 ปีนี้เราต้องมาช่วยกัน

ฝากอะไรในฐานะรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง

ขอฝากข้อคิดให้กับให้น้องๆ ทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้ว มจธ. อย่าไปกลัวการที่ต้องเรียนเยอะๆ หรือเรียนยากๆ เพราะถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่ยากๆ พอจบมาแล้วมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทุกอย่างในชีวิต และประยุกต์ใช้ให้เกิดความรู้ใหม่ที่ทันสมัย อย่างเช่น คนเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก็ควรจะเขียนเว็บไซต์ได้ทุกคนเป็นพื้นฐาน แต่ต้องเป็นเว็บไซต์ที่ไม่ใช่มีแค่ Data อย่างเดียว แต่ต้องเป็นเว็บไซต์ที่สามารถ Control ได้ด้วยเพราะตอนนี้เรื่องของ IoT เป็นสิ่งที่เราควรมีความรู้ติดตัวไว้ รวมทั้งเรื่องหุ่นยนต์ที่บางมดของเรามีชื่อเสียงอยู่แล้ว

อย่าไปกลัวการที่ต้องเรียนเยอะๆ หรือเรียนยากๆ เพราะถ้าเราได้เรียนในสิ่งที่ยากๆ พอจบมาแล้วมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทุกอย่างในชีวิต และประยุกต์ใช้ให้เกิดความรู้ใหม่ที่ทันสมัย

คุณสุวิทย์ ไตรโชค
นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ (รุ่นที่ 20)
ผู้ก่อตั้ง บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด