












เมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำโดย ศ.ดร. มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสอธิการบดี, ผศ. พรยศ ฉัตรธารากุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคม (CIS), คุณศุเรนทร์ ฐปนางกูร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ และคณะ ได้เข้าหารือกับ ดร. อัปสร สอาดสุด ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยา และนายกาญจนพันธ์ คำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูลในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ถึงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของอุทยานธรณีโลกสตูล
CIS นำโดยคุณอรุโณทัย สาริกาขำ ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่รับการสนับสนุนจาก บพท. ภายใต้กรอบ Learning City และกิจกรรมทางวิชาการที่ได้ดำเนินงานร่วมกับอุทยานธรณีโลกสตูล วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ประชาคมเมืองเก่าสตูล ตลอดจนข้อมูลและบทวิเคราะห์เชิงลึก การออกแบบเส้นทางและพื้นที่การเรียนรู้ที่สนับสนุนประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้เรียนรู้แต่ละกลุ่ม การออกแบบโครงสร้างเนื้อหา GeoScience และ GeoCulture ในช่องทางการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ Global Geopark Learning City ในอนาคต รวมถึงการระบุบทบาทหน้าที่เชิงวิชาการของ มจธ. เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ และแนวทางการแบ่งปันข้อมูลและประสานการทำงานในอนาคตกับกองธรณีวิทยา ทสจ.สตูล และอุทยานธรณีโลกสตูลเพื่อจัดทำรายงานความก้าวหน้าอุทยานธรณีโลกสตูลต่อ UNESCO Global Geopark ในปี 2568
นอกจากนี้ CIS ยังได้ร่วมมือกับ Chiba University ภายใต้โครงการ Social Design Institute หรือ SDI โดย Prof. Hiraki Ishido และ Prof. Takagaki Michiko นำนักศึกษา Design Innovation Practice School หรือ dips คณะสถาปัตย์ฯเข้าร่วมนำเสนอแนวคิดการออกแบบ Satun City Branding ในรูปแบบนิทรรศการ ณ อ๊ะไหรโฉ้ว ชุมชนโรงพระสามัคคี ร่วมกับกิจกรรมพัฒนาเมืองที่จัดโดยกลุ่ม Satoyian กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาเมืองสตูลอย่างสร้างสรรค์ ภายในงานยังมีการเสวนากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสานการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลและพื้นที่เมืองเก่าสตูลอย่างสร้างสรรค์ บทบาทการทำงานพัฒนาเมืองระหว่างประชาคมและส่วนราชการ รูปแบบการแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์ และแนวทางการเชื่องโยงทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมต่อยอดสู่ทุนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
มจธ. มีความุม่งมั่นที่จะใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของบุคลากร และงบประมาณด้านวิจัยในการทำงานด้านวิชาการในพื้นที่จังหวัดสตูล ตลอดจนการเรียนรู้ระหว่างบุคลากรและนักศึกษากับประชาคมในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาจังหวัดสตูลสู่การเป็น Global Geopark Learning City ในอนาคต