รับรางวัลดีเยี่ยม “Big Impact สร้างผลกระทบสูงต่อชุมชน”

นักวิจัยศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ร่วมกับเครือข่ายดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสบเมยและ
อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับรางวัลดีเยี่ยม “Big Impact สร้างผลกระทบสูงต่อชุมชน” ในงานการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) และงานนิทรรศการนำเสนอปิดโครงการกรอบวิจัย “การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” (Appropriate Technology) ภายใต้แผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย บพท. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567
สืบเนื่องชุมชนชาติพันธ์บนพื้นที่สูง ความยากลำบากของการเดินทาง ข้อจำกัดการรับรู้ภาษาไทยและข้อปฏิบัติตามวิถีชนเผ่าที่ขัดแย้งกับการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ชุมชนชาติพันธ์ในพื้นที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงและได้รับการบริการสาธารณสุขที่ถูกต้องเหมาะสมจากภาครัฐ แนวทางที่เป็นไปได้คือการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองโดยการสร้าง “หมอบ้าน”จากคนในชุมชนให้มีความสามารถเป็นด่านแรกของการบริการและแก้ปัญหาสุขภาพมูลฐาน สามารถเชื่อมโยงกับ “หมออนามัย”ที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และ “หมอโรงพยาบาลชุมชน” ได้ หากเกิดความจำเป็น


จาก ปี 2565 – 2566 คณะทำงานได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อพัฒนาสมรรถนะซุปเปอร์ อสม. บนพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นกลไกสำคัญของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ให้มีความสามารถในการช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤติและปฐมพยาบาลเบื้องต้น การประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วย และการตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานบริการสาธารณสุขใกล้เคียงได้อย่างเหมาะสม ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ซุปเปอร์อสม. 57 คน ดูแลชาวบ้าน 13,300 คน ใน 50 หย่อมบ้าน ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยตามอาการ คัดกรองและติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง ตลอดจนสามารถประเมินภาวะวิกฤติเพื่อการประสานงานและส่งต่อป้องกันความเสี่ยงต่อชีวิตได้