คุณสัจจา เจนธรรมนุกูล …. มดไฟฟ้า รุ่น 14 หนึ่งในผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการมดพิทักษ์

แนะนำตัว “รุ่นพี่”

สวัสดีครับ ผม “สัจจา  เจนธรรมนุกูล” เป็นนักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศกรรมศาสตร์ เข้าเรียนที่บางมดในปี พ.ศ. 2516 เป็นมดไฟฟ้า รุ่น 14 ปัจจุบันผมเกษียณมาหลายปีแล้ว แต่ยังเป็นกรรมการอยู่หลายบริษัท อาทิ RPCG (มหาชน) ธุรกิจด้านการลงทุน Petro – Instruments ธุรกิจด้านเครื่องมือวัด Pure-Thai Energy ธุรกิจปั้มน้ำมัน Esso สัมมากร (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ตลาด Zenostic งานวิจัยด้าน Bio (DNA) เช่น ชุดตรวจโควิด Scanner CNC ธุรกิจหุ่นยนต์ mold ต่าง ๆ ครับ

ความทรงจำสมัยเรียนที่ “บางมด” เป็นอย่างไร

สมัยที่เรียนบางมด พอมีเวลาว่าง ผมชอบที่จะไปเล่นกีฬาด้วยกัน ทั้งฟุตบอล วอลเลย์บอล ซึ่งเป็นกิิจกรรมสันทนาการที่นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้ว ยังทำให้เกิดความสนิทสนมระหว่างเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ และช่วยให้คลายเครียดได้เป็นอย่างดีเลยครับ ตอนที่ผมเรียนนั้น ผมลงฝึกงานทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก ส่วนในด้านการเรียน ผมจะเรียนอยู่ท้าย ๆ แถวของเพื่อนๆ เลยครับ แต่ก็ถือว่าช่วงเวลานั้นเป็นความทรงจำดีๆ และน่าจดจำสำหรับผม ซึ่งผมรู้สึกมีความสุขกับการเรียนที่บางมดมาก ๆ เลยครับ

คิดว่าเอกลักษณ์ของ “เด็กบางมด” คืออะไร

ความผูกพัน และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากในเด็กบางมด สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้องของพวกเรา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลง สองมือ หนึ่งใจของทุกคน พร้อมที่จะก้าวเข้ามาช่วยเหลือเสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วยเหลือกันเอง ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติของเรา

มีเคล็ดลับในการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างไร

ความรู้ความเชี่ยวชาญ และทักษะที่ได้จากการเรียนรู้เป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้เราเก่งในงาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เคล็ดลับของพี่ คือการที่เราได้ทำ การทำงานทำในสิ่งที่ชอบ และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ต่อตนเองและผู้อื่น มีความอดทน เปิดใจยอมรับรับสิ่งใหม่ๆ และมีทีมงานที่เชื่อมือและเชื่อใจกัน ทีมเวิร์คจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีเสมอ

จุดเริ่มต้นที่สนับสนุนมดพิทักษ์คืออะไร

ทำไมถึงสนใจในการสนับสนุนหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือชุมชน

ในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 การนำหุ่นยนต์มาใช้ปฏิบัติงาน แทนบุคลากรทางการแพทย์นั้น   ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะนอกจากจะมีความปลอดภัยสูงแล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถทดแทนการหากำลังคนมาทำงานของโรงพยาบาลได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทักษะให้คนเราสามารถทำหุ่นยนต์ที่นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริงด้วย นอกจากที่เราเห็นประโยชน์ของหุ่นยนต์แล้ว เป้าหมายต่อไปคือพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแพทย์  ในอนาคตอยากเห็นหุ่นยนต์ทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์ให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และสามารถช่วยประเทศของเรารอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้เชื้อ และสามารถช่วยประเทศของเรารอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ฝากข้อคิด “การช่วยงานอาสา” ให้กับชาวบางมด

สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ คุณค่าของความเป็นคน เราทุกคนมีความรู้ มีความสามารถ มีความถนัดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในการที่จะดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ล้วนแล้วมาจากการสร้างความร่วมมือของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ตัวผมเอง มีความรู้สึกอยากจะทำประโยชน์ให้บางมดอยู่ตลอด เพราะบางมดเป็นที่ให้ความรู้กับเรา จนทำให้เรามีทุกวันนี้ เมื่อโอกาสมาถึงตอนที่เกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดระลอกแรก อ.กฤษณพงศ์ เชิญชวนลูกศิษย์มาร่วมกันทำโครงการช่วยเหลือโรงเรียนชายขอบที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้เข้ามาอาสาตรงนี้ และได้ร่วมทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งทำประโยชน์ร่วมกับเพื่อน ๆ พี่น้องบางมด รู้สึกอบอุ่นมากหัวใจมากๆ ครับ สุดท้ายอยากเชิญชวนอีกต่อหนึ่งให้พี่ๆ น้องๆ บางมดที่มีใจอาสามาร่วมเป็นมดอาสาคืนบางเพื่อช่วยเหลือสังคม ชุมชน และประเทศชาติร่วมกับ มจธ. ไม่ว่าจะทางใดก็ได้ เพราะยังมีคนอีกมากมายที่ต้องการพลังความช่วยเหลือจากพวกเราอยู่อีกมากมายครับ

ความผูกพัน และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอัตลักษณ์ของเด็กบางมด

คุณสัจจา เจนธรรมนุกูล
นักศึกษามดไฟฟ้า รุ่น 14 หนึ่งในผู้สนับสนุนให้เกิดโครงการมดพิทักษ์
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็มอาร์พี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด