นักศึกษาทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต และทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเอนไซม์ฯ มจธ. ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ Cellulomonas palmilytica EW123 ในการผลิตเอนไซม์และสารที่มีมูลค่าสูง

feather-calendarPosted on 21 พฤษภาคม 2024 document ผลงานและกิจกรรมนักศึกษาทุนhighlight หน้าผลงาน นศ.ทุน
แชร์

นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเอนไซม์และการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ (ExCETMU) มจธ. ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ชื่อ Cellulomonas palmilytica EW123 จากการใช้เทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) เป็นกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นใช้ชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรและของเสียจากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยใช้เอนไซม์หรือตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพต่างๆ ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้เชื้อเพลิง สารเคมี และวัสดุจากชีวภาพที่เป็นสารมูลค่าสูง ซึ่งงานวิจัยนี้ใช้เศษวัสดุมูลฝอยจากทะลายปาล์ม (OPEFB) ที่ไม่ได้ผ่านการปรับสภาพเป็นแหล่งคาร์บอนในการผลิตเอนไซม์และสารที่มีมูลค่าสูง และพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่นี้มีศักยภาพในการย่อยสลายสูง สามารถย่อยสลายทะลายปาล์มได้ถึงร้อยละ 50 ในเวลาเพียง 5 วัน นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถย่อยสลายโครงสร้างผนังของเซลล์พืช แป้ง ไขมัน ลิกนิน รวมถึงผลิตเอนไซม์เซโลไบโอส ดีไฮโดรจีเนส (CDH) ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น กรดเซลโลไบโอนิก และ แลคโตไบโอนิก ซึ่งเป็นน้ำตาลกรดที่ใช้ในอาหาร เครื่องสำอาง และยา มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดสารก่อมะเร็ง และมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ การค้นพบครั้งใหม่นี้จะสามารถช่วยลดขยะและของเสียเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นพลังงานและสารเคมีชีวภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมเพื่อนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

เรียนรู้เพิ่มเติม: https://doi.org/10.1099/ijsem.0.005610 และ https://doi.org/10.4014/jmb.2307.07004

ชื่อผู้แต่ง: ดร.เอกวิชญ์ สิริอัจรานนท์

ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์: รศ. ดร. จักรกฤษณ์ เตชะอภัยคุณ