สำหรับวัยรุ่น ม.ปลาย ช่วงนี้หลายคนกำลังเตรียมตัวที่จะวางแผนอนาคตของตนเอง บางคนเลือกที่จะทำงาน หรือบางคนเลือกที่จะศึกษาต่อ ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้มีการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมการแสดงออกถึงความสามารถในด้านต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้กับหลายๆ คนได้ศึกษาต่อที่นี่ เลยอยากจะเชิญชวนทุกคนได้มารู้จักทุนการศึกษารอบ Active recruitment ผ่านมุมมองบทสัมภาษณ์นักศึกษาที่เคยได้รับทุนเพชรพระจอมเกล้าและทุนธรรมรักษา เพื่อเป็นแนวทางถึงการขอทุนการศึกษาที่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
หงษ์ ศุภาพิชญ์ ศิลาวรรณ
นักศึกษาทุนเพชรพระจอมเกล้าด้านวิชาการ
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
จบ ม.ปลายจากโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม
จังหวัดศรีสะเกษ
วิว สิริวรรณ กันทะเสน
นักศึกษาทุนธรรมรักษา
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
จบ ม.ปลายจากโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
จังหวัดน่าน
การเตรียมตัวก่อนรับทุนเตรียมตัวอย่างไร
(หงษ์) ต้องเล่าก่อนนะคะ สมัยมอปลายจบสายวิทย์-คณิต แต่ก็เป็นเด็กกิจกรรม ทำกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียน เป็นสภานักเรียนอยู่ฝ่ายวิชาการ มีอะไรก็จะช่วยเพื่อนที่เป็นประธานนักเรียนตลอด พออยู่มอ 6 มีวิชาแนะแนว จะมีการพูดคุยเรื่องการศึกษาต่อ เลยคุยกับแม่ว่าอยากหาทุนเพื่อมาช่วยเหลือครอบครัว เลยตั้งใจเก็บผลงาน กิจกรรมต่างๆเพิ่มโดยจะบอกตัวเองเสมอ ว่าต้องไม่กดดันตัวเองจนเกินไป หนูพยายามมองหาทุนที่จะช่วยเรื่องค่าเทอม ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียน เลยได้มาเจอทุนเพชรพระจอมเกล้า ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอันแรกเลย ประกอบกับมีรุ่นพี่ที่รู้จักเรียนต่อที่นี่ด้วย เลยไปสอบถามข้อมูลรายละเอียด สมัยที่อยู่มอ 6 เป็นระบบการศึกษาแบบ TCAS ที่รับนักศึกษาทั้งหมด 5 รอบมีเกณฑ์การรับสมัครที่แตกต่างกันไปในแต่ละรอบ เราตั้งใจท่จะเข้ารอบ 1 ซึ่งเป็นรอบ Portfolio จะได้ไม่กดดันตัวเองมาก ในรอบอื่นๆ เลยมาคิดทบทวนกับตัวเองว่าชอบอะไร อยากเรียนต่ออะไร โดยจะเลือกคณะ สาขาจากสิ่งที่ตัวเองชอบก่อน เรารู้ตัวเองว่าวิชาเคมีเรียนไม่ไหว น่าจะไปทางด้านนิเทศมากกว่า เลยไปหาข้อมูล ว่าในมหาวิทยาลัยนี้มีคณะไหนเปิดสอน เลยมาเจอคณะครุศาสร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปิดหลักสูตร สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและสื่อสารมวลชน พอเจอคณะ สาขา ที่อยากจะสมัครเข้าก็จะวางแผนการเตรียม Portfolio
(วิว) หนูเรียนสายวิทย์-คณิตมา เป็นเด็กวิทย์หัวใจศิลป์ มีความชื่นชอบสายงานทางด้านนิเทศ เลยวางแผนเก็บผลงานต่างๆ ตั้งแต่ตอน ม.4 หาประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะในหรือนอกโรงเรียน ทางโรงเรียนมีจดหมายให้ส่งผลงานเข้าประกวดที่มาจากองค์กรข้างนอก เราก็จะไปเข้าร่วมด้วย เพราะเรารู้สึกว่าทำแล้วรู้สึกสนุกและมันยังสามารถเอาใส่ Portfolioได้
เงื่อนไขข้อตกลงของทุนเป็นอย่างไรบ้าง
(หงษ์) ทุนเพชรพระจอมเกล้าจะมีรายละเอียดการขอรับทุนเรื่อง เกรด กิจกรรมต่าง ๆ ในการยื่นโดยต้องมีใบเกียรติบัตรระดับประเทศ ซึ่งของเรามีแค่การแข่งปฐมพยาบาลระดับประเทศ ของยุวกาชาดอาจไม่ได้เกี่ยวกับสาขาที่อยากเข้า แต่เราก็ระบุไป เราทำตรงนั้น เราทำอะไรและเราได้อะไรจากตรงนั้น โดยจะใส่กิจกรรมที่โดดเด่นลงไป โดยเมื่อได้รับทุนเพชรพระจอมเกล้าด้านวิชาการแล้ว ต้องรักษาเกรดเฉลี่ยรวมห้ามต่ำกว่า 3.25 โดยพิจารณาเป็นปีการศึกษา นักศึกษาทุนต้องเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างต่ำ 3 กิจกรรม และต้องมีชั่วโมงการติวกับเพื่อนๆ เป็นเหมือนการแชร์ความรู้กัน โดยทุกเทอมต้องส่งเป็นรายงานพร้อมรูปถ่ายให้ตรงกับชั่วโมงการติวตามเกณฑ์รายละเอียดเมื่อได้รับทุน หรือเราจะเข้าชมรมติวของทางมหาวิทยาลัยก็ได้
และอีกทุนการศึกษาที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือทุนธรรมรักษา เรามาดูเงื่อนไขข้อตกลงของทุนธรรมรักษาจากบทสัมภาษณ์ของวิวกัน
(วิว) ในส่วนของทุนธรรมรักษาจะมีรายละเอียดการขอรับทุนคือต้องไม่มีคนในครอบครัวสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เมื่อได้รับทุนธรรมรักษาแล้วจะได้รับค่าเล่าเรียนตามหลักสูตรและค่าครองชีพรายเดือน 4,000 บาท/เดือน เหมือนกับทุนเพชรพระจอมเกล้าแต่จะแตกต่างกันในส่วนของค่าอุปกรณ์การศึกษาและทุนธรรมรักษาจะมีสิทธิ์ได้พักหอพักในของ มจธ. อีกด้วย โดยเกรดเฉลี่ยรวมห้ามต่ำกว่ามาตรฐานที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดและต้องทำกิจกรรมจิตอาสาที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในหรือนอกมหาวิทยาลัย พร้อมส่งรายงานให้กับพี่ที่ดูแลทุน โดยที่ผ่านมา ในส่วนของวิวที่ผ่านมา วิวได้ไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัด เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ ให้กับน้องๆ ที่จังหวัดน่าน ในการทำงาน Production ผลิตคอนเทนต์ VDO เทคนิคการใช้กล้อง
การเตรียมพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร
(หงษ์) การเตรียมพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หนูจะจัดเป็นขั้นตอนตามนี้คือ
1. เข้าเว็บทุนอ่านรายละเอียดทีละข้ออย่างชัดๆ ให้ถี่ถ้วน ดูว่าทุนมีเกณฑ์การรับสมัครอะไรบ้างที่จำเป็นต้องมี
2. รวบรวมข้อมูลของตนเอง พยามเก็บข้อมูล หากกิจกรรมยังไม่เยอะก็พยายามเก็บกิจกรรมให้ได้ในเทอมนี้
3. แบ่งกิจกรรมรางวัลที่ได้รับเป็นหมวดหมู่ แบ่งประเภทเช่น ด้านวิชาการ จิตอาสา สันทนาการ ไล่ระดับตั้งแต่ระดับประเทศ พร้อมเขียนรายละเอียดได้อะไรจากการทำหน้าที่นั้นๆ
โดยใน Portfolio ของหงษ์จะใส่คำนิยมไปด้วย เป็นลายเซ็นกำกับที่เขียนโดยผู้มีความน่าเชื่อถือ เช่น อาจารย์ที่เราสนิทด้วย อาจารย์ที่ปรึกษา โดยการเขียนเป็นเหมือนการชื่นชม ยกย่อง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้เราได้รับความเชื่อมั่นว่าเราสมควรได้รับทุน เหมือนได้รับการรับรองความสามารถของเราจากผู้ใหญ่
(วิว) การเตรียมพร้อมก่อนเข้ามหาวิทยาลัยแบ่งย่อยเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นสองทำ Portfolio ขั้นสาม สมัครเข้ามหาวิทยาลัย
ขั้นแรกเก็บรวบรวมข้อมูล โดยจะตั้งเป้าหมายก่อนอยากเรียน คณะ สาขาอะไร แล้วนำไปหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะสาขานั้นๆ จากการเป็นเด็กกิจกรรม มันทำให้เรารู้ว่าตัวเองอยากเรียนต่อด้านสายนิเทศ ประกอบกับชื่นชอบเกี่ยวงานการออกแบบกราฟิก ถ่ายรูป ตัดต่อ VDO เลยเก็บกิจกรรมเกี่ยวกับงานสายนิเทศตั้งแต่ ม.4 ตอนแรกที่ทำเพราะชื่นชอบ เพราะคิดว่าเรียนสายวิทย์มันเครียดแต่พอได้ทำงานแบบนี้แล้วรู้สึกสนุกผ่อนคลาย พอมีกิจกรรมอะไรเลยจะลงสมัครไปก่อน และในช่วงแรกๆ อาจทำไม่ค่อยเป็นแต่เราบอกกับตัวเองเสมอ คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้อยู่แล้ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆมันทำให้เราเติบโต เราสามารถฝึกฝนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้และบางงานยังได้ผลงานเป็นเครดิตอีกด้วย พออยู่ช่วงม.5-ม.6 เลยได้รวมกลุ่มกับเพื่อนทำทีมตัดต่อของโรงเรียน ทีมงานน้อยบางทีเลยได้ทำหลายหน้าที่ทำให้ได้เก็บปนะสบการณ์ด้านต่างๆ
ขั้นสองทำ Portfolio
จากประสบการณ์การรับทำ Portfolio มันทำให้เรารู้ว่าเราควรเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องทำของตัวเอง โดยการเตรียมข้อมูล รูป ควรแยกโฟลเดอร์ในแต่ละเดือนว่าทำกิจกรรมอะไรบ้าง ควรบันทึกรูปเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ย่อย ไม่ว่าเป็นการประกวด การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงผลงานที่ทำร่วมกับเพื่อนเพื่อสะดวกในการนำมาออกแบบรูปเล่ม โดยใน Portfolio ของหนูนอกจากมีกิจกรรมที่ได้ประกวดและเข้าร่วมแล้วยังมีทางด้านผู้นำ คือ เป็นรองประธานนักเรียน ประธานรักษ์ป่าน่าน ประธานยุวเกษตร ส่วนตัวเล่มเราสามารถไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ว่าเราควรออกแบบไปในแนวสาขาที่ตัวเองอยากจะเข้า มีเทคนิคหลายอย่างเช่นสี ฟอนต์ ล้วนต้องมีเหตุผลในการใช้ และกิจกรรมที่ใส่ควรเป็นกิจกรรมที่เด่นๆ
การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์เป็นอย่างไร
(หงษ์) ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ศรีสะเกษ ต้องนั่งรถไฟมาลงหัวลำโพง ในวันสัมภาษณ์ได้ติดต่อพี่ที่รู้จักในกทม. พาไปสัมภาษณ์ค่ะ ให้พี่เขาช่วยติวเทคนิคการตอบคำถาม การแนะนำตัวอย่างไรให้กรรมการประทับใจ หนูเคยลองไปสัมภาษณ์อีกที่มาก่อนจึงทำให้ลดความตื่นเต้นไปได้เยอะเลยค่ะ ในวันนั้นมีเพื่อนที่สมัครทุนมารอสัมภาษณ์
3 คน แต่คนละ เลยแอบกดดันตัวเองเหมือนกันค่ะ แต่พอเจอคณะกรรมการ 4 ท่าน ถามคำถามเกี่ยวกับตัวเรา ครอบครัว การเรียน เลยลดความตื่นเต้นได้มากเลยค่ะ โดยในตอนท้ายกรรมการจะถามถึงความคาดหวังหากได้เรียนที่สาขานี้ มีการทดสอบการพูดภาษาอังกฤษเล็กน้อย หากเราตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร กรรมการจะดูไหวพริบการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรา รอประกาศผลประมาณ 2 วัน ตรวจในเว็บไซต์ได้เลยค่ะ และหนูสัมภาษณ์รอบเดียวผ่านเลยค่ะ เพราะทุนเพชรด้านวิชาการดูเกรด ผลงาน กิจกรรม ผ่านหมดเลยค่ะ หนูดีใจมาก โทรไปบอกแม่เอาที่นี่เลยค่ะ (หงษ์พูดพร้อมหัวเราะ)
บรรยากาศการเรียนช่วงแรกและการปรับตัว
ทั้ง 2 คนมาจากต่างจังหวัด ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวทั้งคู่ สำหรับหงษ์ซึ่งเป็นเด็กทุนเพชรจะมีค่ายเตรียมทุกปีเพื่อทำความรู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เด็กทุนเพชรด้วยกันในแต่ละด้าน โดยมีการทำกิจกรรมดูงาน 3 วัน 2 คืน มีการแชร์ประสบการณ์ โดยทุนเพชรด้านวิชาการก็จะมีการถามรุ่นพี่เรื่องการติวต่างๆ ส่วนมากจะถามรุ่นพี่ภาคตนเอง เพราะว่าเนื้อหาการเรียนการสอนต่างๆ จะคล้ายกัน โดยจากกิจกรรมนี้ก็เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียนและยังมีเพื่อนๆ ในภาควิชาคอยช่วยในการปรับตัวด้วย
โดยวิวเด็กทุนธรรมรักษาถึงแม้จะมาจากต่างจังหวัด แต่สามารถปรับตัวได้เร็วเพราะมาทำงานพาร์ทไทม์ที่กทม. ช่วงปิดเทอมเป็นระยะเวลา 6 เดือน เลยได้สัมผัสการใช้ชีวิต การเดินทาง การวางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยตัวเองทำให้เป็นการช่วยในการปรับตัวในระดับนึง วิวยังบอกอีกว่าในการที่มาอยู่หอพักในของมจธ. ช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งยังลดภาระเรื่องการเดินทาง ทั้งยังฝึกความมีระเบียบวินัยเพราะเรามีเพื่อนร่วมห้อง และในช่วงระหว่างรอเปิดเทอม ได้มีโอกาสทำความรู้จักป้ายามมันทำให้รู้สึกอุ่นใจ เพราะเราได้เจอเขาก่อนออกจากหอพักและตอนกลับมา เขาเป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่อยู่ที่บ้านคอยดูแลเรา เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรเร่งด่วน เราสามารถพูดคุยถามไถ่ ช่วยเหลือเราได้
และในส่วนของมหาวิทยาลัยจะมีการเปิดรับสมัครสมาชิกชมรมเยอะมาก เราสามารถไปเข้าร่วมชมรมแหล่งรวมคนที่ชื่นชอบอะไรที่เหมือนกัน มันทำให้เราได้ทำงานกับคนใหม่ๆ นอกจากได้ทำงาน ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบแล้ว ยังได้รู้จักเพื่อนต่างคณะ ต่างสาขาอีกด้วย ทั้งยังฝึกเราในเรื่องการแบ่งเวลาต่างๆ ดังนั้นเรื่องการปรับตัวเมื่อเข้าปี 1 วิวคิดว่าการที่เราร่วมกิจกรรมหลายๆ อย่าง ของทางมหาวิทยาลัย มันทำให้เรารู้จักเพื่อนเพิ่มมากขึ้น เพราะบางทีเพื่อนก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวได้อย่างรวดเร็วขึ้น ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างทำให้เราได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกัน
สิ่งที่อยากแนะนำน้องๆ ที่สนใจ
(หงษ์) คอยติดตามเอาใจใส่กับมัน ต้องมีความมุ่งมั่น มั่นใจในตัวเองกระตือรือร้น หรือจะเรียกว่าความกระหายต้องการที่จะอยากเรียนก็ได้ค่ะ ถ้าเราไม่ย่อท้อต่อเกณฑ์การรับสมัคร เชื่อว่า เราจะทำได้แน่นอนค่ะ หากตอนนี้น้องๆอยู่มอปลายแล้ว ควรเก็บกิจกรรมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามแสดงความตั้งใจ กระตือรือร้น ที่อยากจะเข้าเรียนให้ได้
“เราจะไม่รู้เลยว่าเราชอบอะไร ถ้ายังไม่ได้ลองทำมัน และถ้าหากเราทำเต็มที่แล้ว เราจะได้ไม่เสียใจทีหลัง หากไม่ได้จริงๆ ให้ตั้งสติ แล้วค่อยมาหา Step ต่อไปควรทำอย่างไร”
(วิว) อยากให้น้องๆตั้งใจ มองหาโอกาสอยู่เสมอเพราะการศึกษามันสำคัญจริงๆ มันทำให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ บางอย่างเราไม่สามารถที่จะควบคุมมันได้ก็ปล่อยมันไป แต่ความฝันของเรา เราควบคุมได้ ถ้าเราอยากจะทำมันจริงๆ จงมองหาช่องทางอยู่เสมอ การเตรียมตัวที่ดีคือการวางแผน แม้ไม่เป็นตามที่วางไว้แต่อยากน้อยเรามีแนวทาง
“จงทำตัวให้พร้อมรับโอกาสที่จะเข้ามาในชีวิต เพราะบางทีโอกาสมันจะเข้ามาโดยไม่สนว่าเราจะพร้อมหรือเปล่า เราเลยทำได้แค่พร้อมที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ แม้อาจไม่ได้ดีที่สุดก็ตาม” ขอบคุณคำคมที่เคยอ่านเจอด้วยนะคะ (วิวหัวเราะ)