ในช่วงนี้สถานการณ์ “น้ำประปาเค็ม” กลับมามีปัญหาอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อาจจะสามารถรับรู้ได้จากรสชาติที่เปลี่ยนไปของน้ำประปาในระยะนี้
ผศ. ดร.นุจริน จงรุจา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ความเห็นว่า ค่าน้ำประปาคุณภาพมาตรฐาน ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปี 2011 อ้างอิงจากส่วนน้ำประปา กองเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ กำหนดค่าโซเดียมของน้ำประปาไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ปกติคนเราจะดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หากคูณกับปริมาณน้ำ 2 ลิตร ร่างกายจะได้รับโซเดียม ประมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งถือว่ายังไม่เกินความต้องการของร่างกาย จากข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 1 ช้อนชา แต่การบริโภคโซเดียมในแต่ละวันจะมาจากการบริโภคอาหารแหล่งอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามหากดูรายละเอียดค่าน้ำของ กปน. แบบเรียลไทม์ในบางช่วงเวลานั้นจะมีความน่ากังวล เช่น บางช่วงเวลามีปริมาณโซเดียมสูงถึง 400 มิลลิกรัม




บางช่วงเวลาของแต่ละวันน้ำประปามีปริมาณโซเดียมสูงถึง 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ดังนั้นในช่วงเวลานี้ หากดื่มน้ำ 2 ลิตรเท่าเดิม จะทำให้ได้รับปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม ต่อวัน ซึ่งหมายความว่าหากดื่มน้ำเท่าเดิมร่างกายจะได้รับโซเดียมมากกว่าเดิมถึงสองเท่า แม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ร่างกายสามารถรับโซเดียมได้ต่อวัน แต่หากยังบริโภคอาหารอื่นๆ ที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณเท่าเดิม ก็อาจทำให้ปริมาณโซเดียมที่ได้รับต่อวันมากเกินไป ดังนั้นน้ำประปาในช่วงที่มีค่าโซเดียมสูง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียม
สำหรับผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ควรบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและสำหรับบุคคลทั่วไป ควรลดอาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูงในช่วงนี้