5 สิงหาคม 66
ประกาศโครงการ วมว.(โรงเรียนดรุณสิกขาลัย)เรื่อง เปิดรับสมัครนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ม.3 หรือเทียบเท่าเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนในโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว. ระยะที่ 3) ประจำปีการศึกษา 2567
5 สิงหาคม 66
ประกาศสถาบันโคเซ็น มจธ. เรื่อง เปิดรับสมัครนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ม.3 หรือเทียบเท่าเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนในโครงการ KOSEN KMUTT ประจำปีการศึกษา 2567
5 เมษายน 65
ประกาศสถาบันโคเซ็น มจธ. เรื่อง ผลการสอบคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าเป็นนักศึกษาสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชั้นปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565
11 มี.ค. 65
นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 โครงการ วมว ประจำปีการศึกษา 2565 และต้องการเข้าสอบคัดเลือกในวันที่ 12 มีนาคม 2565 จะต้องดำเนินการดังนี้
10 มี.ค. 65
ประกาศเลขที่เลขที่นั่งสอบรอบ 2 โครงการ วมว.ประจำปีการศึกษา 2565 สอบคัดเลือกในวันที่ 12 มีนาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่การศึกษาบางมด
ด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโยโลยีของประเทศไทย เล็งเห็นว่ากลไกการพัฒนาอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ในระดับเยาวชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับเป็นมวลวิกฤต (Critical mass)
ดังนั้นจำเป็นต้องมีกลไกในการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่เอื้อต่อการสร้างกำลังคน โดยถือเป็นการดำเนินการร่วมกันของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดทำโครงการ วมว.เพื่อรองรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการพัฒนาเป็นนักวิจัยศักยภาพใหม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคตโดยคัดสรรนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นนักวิจัยหรือผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพอันจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (โครงการ วมว.) เป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยในระยะแรกมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 คู่ กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ คือ
1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลา
3. โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
4. โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในการกำหนดมหาวิทยาลัยนำร่องข้างต้น ได้พิจารณาถึงศักยภาพและความพร้อมอื่นประกอบที่เป็นจุดเด่นสำคัญของมหาวิทยาลัย สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีแนวทางในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในด้านทฤษฏีที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการออกแบบ และสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้จริง และเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความคล่องตัวในการผสมผสานในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัยที่มีลักษณะเป็น สหวิชาการ (Multi-disciplinary)
ปีแรกของการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน กำหนดให้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ / โรงเรียน โดยมีจำนวนนักเรียนต่อห้อง 30 คน ซึ่งแผนดำเนินการในระยะแรกเพื่อรับนักเรียน 5 รุ่น ระยะเวลา 7 ปี (ปี 2551-2557) และในเดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการต่อในระยะที่สองอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี ปัจจุบันมีคู่มหาวิทยาลัย-โรงเรียนจำนวน 11 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ
ในปัจจุบันโครงการในระยะที่ 2 ที่เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 โครงการ วมว. ดรุณสิกขาลัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ สถาบันการเรียนรู้ โครงการนี้อาศัยความร่วมมือจากคณะและหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่ช่วยสนับสนุนทั้งทางด้านบุคลากรและอุปกรณ์สถานที่ในการเรียนการสอนโครงการ วมว. ยึดแนวคิดเดียวกันกับโรงเรียนดรุณสิกขาลัยในการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ
ห้องเรียนวิศว์-วิทย์มีเป้าหมายในการบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากแนวคิดนี้ โครงการฯจึงเน้นการเสริมสร้างกระบวนการคิด/การแก้ปัญหา การเปิดโลกทัศน์และมุมมอง เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพต่อไป เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทางโครงการฯจึงได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิดแบบStory-based learning หรือการร้อยเรียงสาระการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องราว เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงความรู้ รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับสังคมและศิลปะ ตลอดจนการวิวัฒนาการร่วมระหว่างศาสตร์เหล่านี้
ในหลักสูตรจะเริ่มเรื่องราวจากการเกิดจักรวาลหรือบิ๊กแบง การเกิดระบบสุริยะและโลก การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ไปจนถึงอารยธรรมโบราณในดินแดนต่างๆ ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก อินเดีย และจีน การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมผ่านเส้นทางสายไหมระหว่างจักรวรรดิโรมันในทางตะวันตก และราชวงศ์ฮั่นทางตะวันออก การกำเนิดของศาสนาที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ และอิสลาม ปีแรกจะครอบคลุมยุคกลางของยุโรปหลังการล่มสลายของโรมัน และอาณาจักรมองโกลของเจงกิสข่านที่เชื่อมตะวันออกและตะวันตก
วิทยาศาสตร์ยุคใหม่เปิดฉากในชั้นมัธยมปีที่๕ ในภาคการศึกษาแรกจะเป็นการเล่าเรื่องยุคเรอเนอซองและEnlightenment ไปจนจบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในภาคการศึกษาที่สอง ยุคนี้เป็นยุคที่สำคัญและเป็นรากฐานทั้งทางวิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐศาสตร์ของเรามาจนกระทั่งปัจจุบัน
ปีสุดท้ายเป็นยุคแห่งสงครามที่เริ่มจากสงครามโลกครั้งที่๑และ๒ในภาคการศึกษาแรก ตามด้วยสงครามเย็นและสงครามการก่อการร้ายในภาคการศึกษาที่สอง นอกจากนั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้ในเรื่องภาวะโลกร้อน โลกาภิวัฒน์ ฯลฯเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่ดีต่อไป
โครงการนี้เป็นโครงการสำหรับนักเรียนประจำ ค่าใช้จ่ายในการเรียนและการกินอยู่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นักเรียนจะพักในหอพักของมหาวิทยาลัยที่วิทยาเขตบางขุนเทียน โดยมีรถรับ-ส่งระหว่างวิทยาเขตให้บริการในกรณีที่มีการเรียนการสอนที่วิทยาเขตบางมด ทางโครงการฯจัดให้มีอาหารสำหรับนักเรียนตลอดเวลาที่มีการเรียนการสอน
การเรียนในหลักสูตรนี้ไม่มีการแยกรายวิชาออกเป็นเคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์หรือ ศิลปะ การบูรณาการระหว่างสาระการเรียนรู้ทำให้สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างสาระต่างๆได้้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสาระในวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง หรือความเชื่อมโยงระหว่างสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ถูกสอนผสานเข้าไปในหลากหลายรายวิชาเพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ แม้ว่าจะเป็นโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่หลักสูตรนี้ได้ให้ความสำคัญกับรายวิชาอื่นๆด้วย ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่างๆ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการบ่มเพาะนักเรียนให้เติบโตเป็นนักวิจัยที่ดีและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
โครงการ วมว.สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ :
สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.)